ทิพยประกันภัย สืบสานการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา นำคณะครูอาจารย์ร่วมกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 12” ต้นกำเนิดปลานิลจิตรลดา ท่องพาสาน แลนด์มารค์ใหม่เมืองสี่แคว สักการะเทพเจ้าเมืองปากนํ้าโพ เรียนรู้วิถีเกษตรผสมผสาน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดนครสวรรค์ ส่งต่อการเรียนรู้วิถีใหม่สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิพยประกันภัย ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา เพื่อนำมาต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมทางด้านการศึกษาให้กับเยาวชน โดยนำคณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศรวม 300 กว่าคนจาก 151 สถาบัน ร่วมโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ในรูปแบบ Edutainment : ทุกที่คือการเรียนรู้ ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผสานการท่องเที่ยววิถีชุมชน และเวิร์กชอป ผ่านนวัตกรรมบอร์ดเกม เป็นการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้วิถีใหม่ในสถาบันการศึกษา ชุมชน และครอบครัว
โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ตอน “ต้นกำเนิดปลานิลจิตรลดา ท่องพาสาน แลนด์มารค์ใหม่เมืองสี่แคว สักการะเทพเจ้าเมืองปากนํ้าโพ เรียนรู้วิถีเกษตรผสมผสาน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดนครสวรรค์” ซึ่งมีคณะครูอาจารย์ ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ 30 คน ร่วมเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมถอดบทเรียน
กิจกรรมครั้งนี้ ได้ลงพื้นที่โครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา หนองกรด จ.นครสวรรค์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ 25 ไร่ จัดตั้งเป็นศูนย์สาธิต และให้บริการวิชาการเกษตร โดยจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชแบบผสมผสาน รวมทั้งเป็นสถานที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ได้เข้ามาเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 23 ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564