รัฐบาลเดินหน้าดูแล“สังคมสูงอายุ”พบหญิงอายุยืนเฉลี่ย 80 ปี ชาย 73 ปี

13 เม.ย. 2564 | 02:53 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2564 | 09:59 น.

รัฐบาลเดินหน้าดูแล “สังคมสูงอายุ” ส่งเสริมออมเงินทุกช่วงวัย มีใช้ยามชรา เผยคนไทยมีอายุยืนขึ้น ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายอายุเฉลี่ย 73.2 ปี

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ (13 เม.ย.) นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังผู้สูงอายุ ครอบครัวพี่น้องชาวไทย รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานด้านกิจการผู้สูงอายุ โดยหวังให้คนไทยตื่นตัวเรื่องสังคมสูงอายุให้มาก เพราะเกี่ยวข้องกับคนทุกคน

รัฐบาลจึงได้กำหนดให้ “สังคมสูงอายุ” เป็นวาระแห่งชาติ และได้สานต่อแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ (พ.ศ.2545-2565) เพื่อสร้างความพร้อมสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ที่คาดการณ์ปี 2564 จะมีประชากรไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี ปีละล้านคน รวมถึงในปี 2576 สัดส่วนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 28 เข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด

สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุ รัฐบาลกำหนดให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในส่วนกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการออม การสร้างทัศนคติไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ

ส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้สูงอายุ จะเน้นการเสริมทักษะการทำงานใหม่ การสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ การสร้างงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ สนับสนุนเงินทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพผู้สูงอายุ ในด้านสุขภาพ รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุขให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพในระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น

นอกจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ยังพบว่าคนไทยมีอายุยืนขึ้น และผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี

ดังนั้น เพื่อเชิญชวนให้คนไทยออมเงินจะได้มีใช้ในวัยเกษียณ ด้วยการเริ่มต้นการออมขณะที่อายุยังน้อย โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร รับจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ค้า วินมอร์เตอรไซด์ เป็นต้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการในหลายรูปแบบเพื่อสร้างหลักประกันในวัยเกษียณแก่ประชาชน คือ

1.การออมของผู้มีอาชีพอิสระ เริ่มออมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) รัฐบาลช่วยสมทบด้วย ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกกว่า 2.4 ล้านคน

2.สำนักงานประกันสังคม เมื่อปีที่แล้วได้ปรับปรุงกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ขณะนี้มีจำนวนผู้ประกันตนกว่า 3.5 ล้านคน

และ 3. ล่าสุด มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่างกฎหมายตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อการออมไว้ใช้ยามเกษียณของลูกจ้างในระบบทุกประเภท

“ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวในหลายโอกาสว่า อยากให้คนไทยทุกช่วงวัย เห็นคุณค่าของการออม ซึ่งถือเป็นการวางแผนชีวิตในระยะยาวสำหรับทุกคน เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ มีเงินพอใช้ในการดำเนินชีวิตในช่วงสูงอายุ และยามจำเป็น แม้เวลานี้เราจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายได้ลดลง ก็ขอให้คำนึงถึงการออมเพื่อบั้นปลายชีวิตด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเดินหน้าการกระจายการฉีดวัคซีน ซึ่งคาดว่า ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้น” นางสาวรัชดา กล่าว