นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ภัยแล้งในปี 2564 พบว่าบางแหล่งน้ำมีสภาพแห้งขอดไม่มีน้ำแล้ว เช่น แม่น้ำวัง บริเวณช่วงรอยต่อจังหวัดลำปางกับจังหวัดตาก แม่น้ำยม ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร เป็นต้น และในช่วงหน้าแล้งแหล่งน้ำส่วนใหญ่มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงจากปกติ โดยจากการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มักพบปัญหาคุณภาพน้ำที่เกิดจากกรณีการเกิดสาหร่ายสะพรั่ง (Algal Bloom) หรือมีปริมาณสาหร่ายในน้ำมากกว่าภาวะปกติ ซึ่งมักพบในแหล่งน้ำ เช่น บริเวณประตูระบายน้ำ เขื่อน ฝาย หนอง บึง เป็นต้น
นายอรรถพล กล่าวว่า ปัญหาสาหร่ายสะพรั่งเกิดจากการที่แหล่งน้ำมีปริมาณน้ำลดน้อยลง จนมีสภาพนิ่งไม่ไหลเวียน ส่งผลให้ความเข้มข้นของสารอาหารพืช ได้แก่ ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูงขึ้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม น้ำทิ้งจากบ้านเรือน เมื่อมีสารอาหารมากขึ้นจะไปกระตุ้นให้สาหร่ายเจริญอย่างรวดเร็ว และเมื่อได้รับแสงแดดมากเพียงพอจะลอยขึ้นมารับแสงแดดเพื่อสังเคราะห์แสง เกิดปกคลุมทั่วบริเวณผิวน้ำ
โดยสามารถเกิดได้ทั้งแหล่งน้ำจืดและน้ำทะเล ซึ่งการมีปริมาณสาหร่ายในน้ำมากกว่าภาวะปกติจะก่อให้เกิดปัญหา เช่น เกิดการขาดแคลนปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำโดยเฉพาะ ในช่วงเวลากลางคืนที่พืชและสาหร่ายมีการหายใจจะดึงออกซิเจนในน้ำไปใช้เป็นจำนวนมาก ทำให้สัตว์น้ำขาดอากาศหายใจ และเมื่อมีเหตุสาหร่ายตายลงพร้อมกันจำนวนมาก จะเกิดการย่อยสลายและทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียรุนแรงได้ ในการสังเกตในกรณีสาหร่ายเกิดการสะพรั่งในแหล่งน้ำ จะพบสีของแหล่งน้ำเปลี่ยนไปจากปกติ โดยอาจพบได้หลายสีขึ้นกับชนิดของสาหร่าย เช่น เขียว น้ำตาลเหลือง หรือ แดง เป็นต้น
การป้องกันและแก้ไขปัญหาสาหร่ายสะพรั่งจะต้องทำให้แหล่งน้ำเกิดการไหลเวียนถ่ายเท หากมีประตูระบายน้ำควรเปิดระบายน้ำบ้างเป็นครั้งคราว หรือใช้เครื่องเติมอากาศ เครื่องผลักดันน้ำเพื่อให้น้ำเกิดการผสมหมุนเวียนและเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ หากเริ่มมีสาหร่ายเกิดขึ้นให้ทำการกำจัดออกจากแหล่งน้ำก่อนที่จะเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย และต้องควบคุมที่ต้นทางโดยการลดปริมาณสารอาหารที่จะลงสู่แหล่งน้ำ เช่น เข้มงวดในการอนุญาตระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำของสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้ง งดการเลี้ยงปลาในกระชัง ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างธาตุอาหารหรือปุ๋ย จากพื้นที่การเกษตรลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาคุณภาพน้ำในช่วงหน้าแล้ง
ทั้งนี้ คพ. ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนและผู้ประกอบการ ลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัดและนำน้ำที่ใช้แล้วไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้น เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังในช่วงหน้าร้อนจะมีความเสี่ยงปลาตายยกกระชัง เหตุจากการขาดออกซิเจนในน้ำ จึงควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยง ในรายที่มีการเลี้ยงแล้วควรลดความหนาแน่นของปลาในกระชังและลดปริมาณอาหารปลาให้น้อยลง รวมทั้งกำจัดสาหร่ายในกระชัง และบริเวณโดยรอบอยู่เสมอและควรมีเครื่องตีน้ำเครื่องเติมอากาศไว้ให้พร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน นายอรรถพล กล่าว