15 เมษายน 2564 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยช่วงการแถลงข่าวสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กรณีที่โรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษาผู้ป่วย หลังตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 โดยยืนยันว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล และพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ ฉะนั้น สถานพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนจะต้องให้การดูแลรักษาและดำเนินการให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ออกประกาศให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกให้ดำเนินการดูแลตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนด
ยกตัวอย่าง เมื่อโรงพยาบาลเอกชนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ผู้ป่วยแล้ว ต้องมีกระบวนการแจ้งผล การจัดหาเตียงให้ผู้ป่วย หากจำเป็นต้องจัดระบบส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่สูงกว่า เช่นเดียวกับคลินิกที่ต้องจัดระบบในการตรวจ หากพบติดเชื้อโควิด-19 ก็ต้องจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ไม่ให้ผู้ป่วยเดินทางไปเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มีประกาศออกมาแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของสถานพยาบาลทุกแห่งที่ต้องดำเนินการ หากไม่ดำเนินการตามนี้จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล โดยมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ รวมทั้งมีความผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ
ทั้งนี้ ก่อนนี้ทราบว่า มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านบางนาไม่ได้ดำเนินการตามนี้ ฉะนั้น จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี นพ.ธเรศ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เชื่อว่า เป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่จะกระทำเช่นนี้เพราะในการทำงานร่วมกันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการพูดคุยพร้อมนำเตียงมารวมกันทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ย้ำว่า ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลพร้อมฝากสถานพยาบาลทุกแห่งให้ดูแลผู้ป่วยตามที่กฎหมายกำหนด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งปิดสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 20-สาขาวังทองหลาง วันที่16 เม.ย.นี้ พบติดโควิด
วิธีปฏิบัติเมื่อพบผู้ป่วยโควิด อย่างไหนเรียกสัมผัสเสี่ยงสูง- ต่ำ
รับมือโควิดระลอก 3 "ไอคอนสยาม – เซ็นทรัล" ปิดศูนย์ 3 ทุ่ม เริ่มวันนี้
พุ่งหลักพันวันที่สอง ติดเชื้อโควิด 15 เม.ย. 64 รายใหม่ 1,543 ราย สะสม 37,453 ราย
แจ้งปรับเวลา “เปิด-ปิด” ธนาคารของรัฐและธนาคารสมาชิกช่วงโควิด เริ่ม 16 เม.ย.นี้