2 เครื่องยนต์หลักที่เป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 คือ ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก เนื่องจากมีนํ้าหนักต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูง โดยการส่งออกมีสัดส่วนมากกว่า 60% แม้ว่าช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 จะยังหดตัวที่ 1.16% แต่กระทรวงพาณิชย์ยังมั่นใจว่า ไตรมาส 2 จะดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น การแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทั้งปีจึงยังมองส่งออกเติบโตได้ 4%
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วนเกือบ 12% แต่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เพราะมีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและการจ้างงานจำนวนมาก จากการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) พบว่า ตลอดปี 2563 มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตกงานประมาณ 1.04 ล้านคนและคาดว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อาจทำให้แรงงานภาคท่องเที่ยวตกงานมากกว่า 2 ล้านคน จากแรงงานภาคท่องเที่ยวทั้งหมดที่มีอยู่ราว 4 ล้านคน
งบเหลือพอรับมือ
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า การดำเนินมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการสำหรับกู้เงินแล้ว 7.6 แสนล้านบาท ยังคงเหลือเงินกู้อีก 2.4 แสนล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้ดูแลผลกระทบจากโควิด-19 ได้ ซึ่งพ.ร.ก.ดังกล่าวจะครบอายุในวันที่ 30 กันายน 2564 หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้เพิ่ม ก็ต้งออกเป็นกฎหมายเพิ่มเติมหรือกฎหมายใหม่
อย่างไรก็ตามนอกจากเงินกู้ที่เหลือ 2.4 แสนล้านบาทแล้ว ยังมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่าย งบกลาง ปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็นอีก 99,000 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายไปแล้วราว 500 ล้านบาท หรือ 0.5% และยังมีงบที่โยกมาเพื่อใช้สำหรับโควิด-19 อีก 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายไป 3.2 พันล้านบาทหรือ 8% ราว 3.815 แสนล้านบาท จึงมันใจว่า มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับที่นำมาใช้ได้
ขณะนี้มีมาตรการ “เราชนะ” และ “ม33เรารักกัน” ที่จะประคองกำลังซื้อในประเทศได้ไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งจะประเมินผลอีกครั้ง หากต้องการเพิ่มโมเมนตั้มในระบบเศรษฐกิจ ก็อาจนำโครงการ “คนละครึ่งเฟส3” มาใช้ต่อ เพราะถือว่า เป็นมาตรการที่กระตุ้นการใช้จ่ายได้อย่างดี แต่ต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเดิมเม็ดเงินที่เหลือ 2.4 แสนล้านบาทนั้น ควรเอามาใช้อัดฉีดลงสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงต้นไตรมาส3 เป็นต้นไป แต่เมื่อเกิดการระบาดอีกรอบ ก็จะต้องมาพิจารณาว่า เม็ดเงินควรจะลงสู่ระบบเร็วขึ้นหรือไม่ เพื่อให้มีความต่อเนื่อง
จ่อปรับจีดีพีใหม่
ทั้งนี้ สศค.จะประเมินตัวเลขจีดีพีปี 2564 ใหม่ ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ จากตัวเลขเดิมที่ประเมินไว้ในช่วงเดือนมกราคม 2564คือ ขยายตัว 2.8% ซึ่งขณะนี้้สถานการณ์เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19รอบ3 จึงยังต้องรอดูว่าในช่วงสงกรานต์นี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของละจังหวัดจะมีมาตรการใดๆ ออกมาบ้าง ซึ่งหากยังไม่มีโควิด-19 รอบ3 ถือว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนของเอกชนที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ตัวเลขส่งออกไทยที่ได้รับปัจจัยบวกการเศรษฐกิจโลก รวมถึงตัวเลขภาคการท่องเที่ยวด้วย
เดินหน้าเปิดประเทศ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กำหนดการเปิดรับท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงตามกำหนดการเดิม ปัจจัยสำคัญคือ การกระจายฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเก็ต จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนมาแล้วแบบไม่กักตัว ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จะเริ่มเดินทางเข้ามาในไตรมาส3 เพราะช่วงนี้เดินทางเข้ามา ก็ยังคงต้องกักตัว 7 วัน เว้นแต่คนที่ ผ่านวีซ่าประเภท สเปเชี่ยล ทัวริสต์ วีซ่า (Special Tourist Visa -STV) และ ทัวริสต์ วีซ่า (Tourist Visa-TR)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มียอดจองท่องเที่ยวล่วงหน้าเข้ามา เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังรอมาตรฐานการปฏิบัติงาน(SOPS) ของไทยอยู่ ซึ่งจะนำเรื่องนี้เสนอในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณาอนุมัติในหลักการ ภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนที่ยกเลิกก็มีบ้าง และบรรยากาศไม่ได้คึกคัก เพราะหลายจังหวัดมีมาตรการการกักตัว หรือต้องรายงานตัวกับอสม. ทำให้หลายคนเลือกเดินทางไปยังพื้นที่ความเสี่ยงตํ่า หรือไม่ก็ไม่เดินทางเลย คาดว่า การยกเลิกการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ประมาณ 20%
“มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจะทำให้เร็วยิ่งขึ้น จากเดิมคิดว่าเดือนเมษายนนี้จะฟื้นตัว แต่ก็มีการระบาดขึ้น จากนี้ก็คงทำให้เข้มข้นมากขึ้น จะนัดประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หลังจากหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ไป เพื่อประเมินผลกระทบ และกำหนดการดำเนินงานต่อไป” นายยุทธศักดิ์กล่าว
ขณะเดียวกันมาตรการเตรียมพร้อมในการดูแลสภาพคล่องเอง ก็มีผลบังคับไปแล้วเมื่อ 11 เมษายน หลังจากพะราชกำหนด(พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่) ซึ่งจะมี 2 มาตรการคือสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้อีก 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ลูกหนี้เดิมและใหม่เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องในกิจการได้มากขึ้นรวมถึง สามารถตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืนได้เมื่อกิจการฟื้นตัวขึ้น
เอกชนจี้หากระสุนเพิ่ม
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เงินที่เหลืออีก 2.4 แสนล้านบาท รัฐบาลควรจะกู้เพิ่มหรือไม่นั้น เคยบอกว่าถ้ากู้ได้ก็กู้มาเพื่อเป็นทุนสำรองในการใช้เยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ และกระตุ้นการบริโภค ที่ต้องทำอย่างโปร่งใส เทียบกับประเทศอื่นแล้วเรายังกู้ได้อีก
อีกทั้ง หากรัฐบาลปลดล็อกให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ โดยการกำกับดูแลของรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่ดี จะทำให้การกระจายและฉีดวัคซีนทำได้เร็ว และครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น จากเวลานี้ปัญหาคือจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอ และฉีดได้ช้า ในการบริหารจัดการคนไม่รู้ว่าตนจะได้ฉีดเมื่อไร ซึ่งการฉีดในช่วงที่ผ่านมาแม้มีผลข้างเคียงบ้าง แต่ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก
“ตอนนี้การติดเชื้อโควิดในโรงงานภาคอุตสาหกรรมซาลง ถือว่าควบคุมได้แล้ว แต่รอบนี้กระจายไปในคลัสเตอร์ของภาคบริการเป็นหลักซึ่งในรอบใหม่นี้ไม่ได้ล็อกดาวน์ ทั้งหมดหรือปิดประเทศเหมือนรอบแรก แต่ก็จะทำให้การบริโภคสะดุด
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564