มนุษย์ไอที ผู้สร้างนวัตกรรมเชิงสังคม

18 เม.ย. 2564 | 01:35 น.

จากวิศวกรไทยที่เคยไปทำงานกับ NASA ด้วยความที่เป็นคนชอบเทคโนโลยี และการเดินทาง ทำให้ได้เห็นปัญหาสังคม และเกิดความคิดในการนำความรู้ที่มี ไปช่วยแก้ไขปัญหาสังคมเหล่านั้น ให้ลดทอนลง หรือให้หายไปในที่สุด นั่นคือ ที่มาของการก่อตั้งบริษัท ดูอินไทย จำกัด ของ “ดร.สุทัศน์ รงรอง” หรือ “คุณเล้ง”

“คุณเล้ง” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูอินไทย ที่ตั้งขึ้นมาด้วยเป้าหมายการสร้างอิมแพ็คที่มีคุณค่ากับสังคม คนนี้ เคยทำงานที่กูเกิล และเคยเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์เครือข่ายวิจัยข้อมูลจากอวกาศ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) โครงการประมวลผลภาพและโมเดลสภาวะโลก ห้องปฏิบัติการประมวลผลภาพอวกาศ (Space Imagery Laboratory) โดยทำงานอยู่ในทีมวิจัยเพื่อประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้นไปไว้บนดาวอังคารและดวงจันทร์ เขาเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2552 ได้เริ่มเดินทางสอนไอทีให้กับเด็กๆ ตามต่างจังหวัด จนกระทั่งปี 2556 จึงตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา เป็นบริษัทที่ทำงานวิจัยและพัฒนาสังคม

“เริ่มจากการนำคนรู้จักมาช่วยกันทำงาน ด้วยการเดินทางทำงานต่างจังหวัด 15 วัน เพราะต้องลงพื้นที่ไปรับรู้และเก็บข้อมูลจริง และอีก 15 วันมาทำงานในออฟฟิศ เราทำงานทุกวัน และเดินทางตลอด ทำแบบนี้มา 10 ปี ด้วยทีมงาน 14 คน”

 

ดร.สุทัศน์ รงรอง

การทำงานด้วยแนวคิดของนวัตกรเล็กๆ ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาสิ่งที่มากกว่าแค่ทำให้ตัวเราสะดวกสบาย แต่เป็นอะไรที่สามารถสร้างอิมแพ็คที่ดีและมีคุณค่ากับสังคม เป็นนวัตกรรมเชิงสังคม เพื่อสังคม ที่มีผลกระทบกับคนชีวิตคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่ตัวเราเพียงอย่างเดียว นั่นคือ เหตุที่ทำให้ทีมงานของ “ดูอินไทย” ต้องทำงาน 365 วัน...“เพราะเราเชื่อว่า การทำนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่มีผลกระทบกับชีวิตคนอื่น ไม่ใช่แค่ตัวเรา ถ้าเราไม่ออกไปเจอกับคนอื่น ไม่เข้าใจบริบทที่แท้จริง เราจะไม่สามารถพูดได้ว่า เราเป็นคนทำนวัตกรรมเชิงสังคม”

“คุณเล้ง” บอกเลยว่า วิชั่น-มิชชั่นที่แข็งแกร่งของบริษัท กลายเป็นจุดอ่อนขององค์กรไปในเวลาเดียวกัน เพราะการทำงานแบบไม่มีวันหยุด เงินที่มีก็จะหมดไปกับการเดินทาง ในขณะที่องค์กรเกือบจะ 100% จะไม่มีงบให้กับระยะเวลาในการทำรีเสิร์ท ที่อาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปีต่อหนึ่งโปรเจค เพื่อให้ได้คำตอบ หรือโซลูชั่น ที่จะนำมาใช้ในการทำมาร์เก็ตติ้ง หรืองานด้านซีเอสอาร์ขององค์กร

และนี่คือเหตุผล ที่ทำให้ “ดูอินไทย” ต้องมีการปรับโครงสร้าง ไม่เช่นนั้น องค์กรก็จะเลี้ยงตัวเองลำบาก เพราะ 3 ปี กินแกล็บ อีก 3 ปีได้เงิน ...เขาเริ่มปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มทีมงาน จัดระบบการเงินใหม่ และวางแผนการพัฒนาโปรเจคใหม่ โดยการบาลานซ์จุดยืนขององค์กรของการเป็นองค์กรรีเสิร์ท ขณะเดียวกันก็พยายามหาแหล่งเงินทุน ซึ่งขณะนี้เริ่มมีแหล่งเงินทุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้นแล้ว

มนุษย์ไอที ผู้สร้างนวัตกรรมเชิงสังคม

ขณะที่องค์กรเล็กๆ แห่งนี้กำลังปรับตัว บาลานซ์จุดอ่อนและจุดแข็งขององค์กรให้ลงตัว แต่รู้หรือไม่ว่า องค์กรที่ทำงาน 365 วันองค์กรนี้ สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่มามากมาย และเป็นที่ยอมรับของต่างชาติเป็นอย่างดี ในฐานะองค์กรนวัตกรรมเชิงสังคมที่ถึงพริกถึงขิง ถึงแก่นของความยั่งยืนอย่างแท้จริง ด้วยการทำงานที่ยืนอยู่บนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ ขององค์กรสหประชาชาติมาตลอด

 

มนุษย์ไอที ผู้สร้างนวัตกรรมเชิงสังคม

ผลงานที่ผ่านมา เช่น ระบบการค้าขายของที่อินโดนีเซีย ที่ทำให้ชุมชนบนเกาะซื้อของได้ในเมือง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ หรืออีกหนึ่งโปรเจค คือ การร่วมงานกับบริษัทกาแฟระดับโลก ที่เคนย่า ลาวันด้า เพื่อทำให้รู้ว่า คนที่เก็บกาแฟ มีเด็กอายุตํ่ากว่า 13 ปีหรือเปล่า เงินที่เขาจ่ายไปทำให้คนในอัฟริกาใต้ได้เท่าไร การคั่วใช้ไฟเท่าไร รวมไปถึง การทำงานเรื่องประมง ทำเรื่อง IUU Fishing การตรวจสอบย้อนหลัง และยังมีอีกหลายโปรเจค

การทำงานเพื่อสังคมแบบจริงจัง ไม่ใช่เรื่องง่าย และการสร้างองค์กรเพื่อสังคม ที่สามารถสร้างอิมแพ็คทางบวกให้เกิดขึ้นกับสังคมจริงๆ โดยมีเงินเลี้ยงตัวเองและทำกำไร ยิ่งไม่ง่ายเลย แต่วันนี้...“คุณเล้ง” พยายามที่จะบริหารทั้งเป้าหมายและองค์กรให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ ปณิธานอันแรงกล้า ของผู้บริหารหนุ่มคนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564