สถานการณ์โควิด-19รอบนี้(ระลอก3) ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่า2ครั้งที่ผ่านมา สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุหลัก1,000ราย แพร่ระบาดรวดเร็วครอบคลุมทั้ง77จังหวัด แม้รัฐบาลจะออกมาตรการสะกัดกั้น ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ปรับลดเวลาการจับจ่ายของห้างค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ แต่ ในที่สุดแล้วการป้องกันที่ดีที่สุดคือทุกคนควรลดไปยังพื้นที่เสี่ยงสูง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้งการสำรวจตัวเองว่า มีโรคภับไข้เจ็บอะไรที่เสี่ยงหากเจอกับไวรัสตัวนี้
ทั้งนี้เมื่อ17 เมษายน 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน การศึกษาระหว่างประเทศที่นำโดยออสเตรเลีย พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่มีน้ำหนักเกินหรือภาวะโรคอ้วน มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่าการวิจัยเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งนำโดยสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก (MCRI) และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) และตีพิมพ์ในวารสารไดอะบีทิส แคร์ (Diabetes Care) พบผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือภาวะโรคอ้วน ยังมีแนวโน้มต้องการออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจผ่านทางท่อเจาะคอมากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์
การศึกษาดังกล่าวใช้ข้อมูลจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 วัยผู้ใหญ่ จำนวน 7,244 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 18 แห่งใน 11 ประเทศ โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินร้อยละ 34.8 และผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วนร้อยละ 30.8
คณะนักวิจัยพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มต้องการออกซิเจนมากกว่า และมีแน้วโน้มต้องการเครื่องช่วยหายใจผ่านทางท่อเจาะคอมากกว่าถึงร้อยละ 73 ขณะผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินมีผลลัพธ์คล้ายคลึงกันแต่รุนแรงน้อยกว่า
ดร.เคิร์สตี ชอร์ต ผู้ร่วมนำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่า “โรคอ้วนเกี่ยวข้องกับอาการสุขภาพไม่ดีหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ และโรคติดต่อทางเชื้อไวรัสที่รุนแรงกว่า เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19”
“จากการศึกษาขนานใหญ่นี้ เราสรุปว่าการมีน้ำหนักเกินหรือภาวะโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรงกว่าในกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19” ชอร์ตกล่าว
ดร.ดาเนียล ลองมอร์ จากสถาบันฯ ระบุว่าการค้นพบนี้ ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและอาการป่วยของโรคโควิด-19 สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้ยุทธวิธีเพื่อแก้ปัญหาตัวกระตุ้นโรคอ้วนทางเศรษฐกิจและสังคม และมาตรการนโยบายสาธารณะ เช่น ข้อจำกัดการโฆษณาอาหารขยะ