ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า ม.กรุงเทพ ได้ดำเนินปรับหลักสูตรทุกคณะสาขาวิชามาใช้ Blended Learning ซึ่งถือเป็นแนวทางการศึกษาที่ตอบโจทย์โลกการเรียนรู้ยุคใหม่ที่ต้องมีการผสมผสานและยืดหยุ่นสูงพร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา โดยนักวิชาการด้านการศึกษาต่างเชื่อมั่นว่า Blended Learning จะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากแต่ละรายวิชามีวิธีการเรียนที่เหมาะสมต่างกัน เช่น
วิชาที่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ เป็นการเรียนที่ต้องใช้สมาธิสามารถทบทวนเนื้อหาย้อนหลังและได้อัปเดตข้อมูลจากทุกมุมโลก ส่วนการเรียนที่ต้องเรียนในสถานที่จริงจะเหมาะกับเนื้อหาที่ต้องมีฝึกปฏิบัติ ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ หรือต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
“ม.กรุงเทพเริ่มพัฒนากระบวนการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบมาตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของวิธีการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ มีการใช้เทคโนโลยีทันยุคสมัย และอัพเดตข้อมูลความรู้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Blended Learning ถูกนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเรียนการสอน ต้องใช้ growth mindset ในการรับมืออย่างเข้าใจ รวดเร็วและทันโลก
ทั้งนี้ การปรับตัวต้องเกิดขึ้นทั้งผู้เรียน ผู้สอน และสถาบันการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนารูปแบบ Blended Learning ที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่เคยหยุดการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนใหม่ในลักษณะการผสมผสานวิธีการ มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ทันสมัย สร้างองค์ความรู้ในคณะวิชาใหม่ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถกำหนดแผนการเรียนด้วยตัวเอง เช่น การจัดการเรียนรู้ iFIT (Individual Future Innovative Learning of Thailand) ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้ให้คำชี้แนะ
ผศ.สรรเสริญ กล่าวต่ออีกว่า Blended Learning ของม.กรุงเทพ เรียกสั้นๆ ว่า BU Blended เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความสนใจที่แตกต่างของผู้เรียน โดยมีขอบข่ายที่เปิดกว้างกว่า Blended Learning ทั่วไป เนื่องจากผสมผสานการเรียนรู้ทั้งออนไลน์และออนไซต์ ที่เน้นการเรียน Active Learning ด้วยกระบวนการต่างๆ ที่มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เช่น การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning/ Case Study) การจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน (Task-based Learning) การจัดการเรียนรู้แบบเน้นวิจัย (Research-based Learning) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี BU Blended จึงมี 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.Online Lecture เรียนที่ไหนก็ได้ ,2.Online Tutorial จัดให้ทั้งกลุ่มย่อย และรายบุคคล ,3.Home Studio ทุกที่เป็นห้องเรียน ห้องแล็บในมหาวิทยาลัยยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ แต่เมื่อเพิ่มเติม Home Studio โดยเชื่อมต่อเทคโนโลยี open platform จากมหาวิทยาลัย จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากสิ่งใกล้ตัวมากขึ้นมาใช้ในการทำโปรเจ็คไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการด้านทัศนศิลป์ จัดแสดงโครงการศิลปะการแสดง ถ่ายทำภาพยนตร์ ฯลฯ
,4.Onsite Experience มีการเรียนที่แคมปัสและเพิ่มประสบการณ์นอกแคมปัส เช่น การทำงานร่วมกับบริษัทและองค์กรที่เป็นพันธมิตร หรือแม้แต่สถานที่ใดก็ตามที่ผู้เรียนและผู้สอนเห็นตรงกันว่าเหมาะสำหรับการเข้าไปหาประสบการณ์ และ5.Masterclass เพราะระยะทางในโลกถูกเชื่อมโยงด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยสามารถสรรหาผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมาเป็น Guess Speaker โดยอาจารย์ผู้สอนทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ร่วมกับมาสเตอร์ เปิดโลกการเรียนรู้ในมุมมองที่เปิดกว้างและเป็นสากล
Blended learning จึงไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้ที่ตอบสนองความสนใจของผู้เรียนแต่ยังเป็นการเรียนรู้ที่ตอบรับรูปแบบของอาชีพในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การเรียนรู้แบบผสมผสานจึงเป็นการนำลักษณะงานอาชีพมาเป็นโจทย์สำคัญเพื่อออกแบบวิธีการเรียนรู้ ด้วยแนวคิดเช่นนี้ ม.กรุงเทพได้เปิดโอกาสให้ทุกคณะสาขาวิชาสามารถออกแบบเนื้อหาและวิธีการเรียนได้อย่างอิสระโดยใช้กระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดชุดโมดูลรายวิชาภายในคณะและรายวิชาข้ามคณะเพื่อเสริมทักษะในการทำงานให้ผู้เรียน ทั้งยังผสมผสานการเรียน onsite ซึ่งทุกที่ใช้เป็นที่เรียนได้ และการเรียน online ที่มีหลายรูปแบบช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักศึกษาได้อย่างเต็มที่
ผศ.สรรเสริญ กล่าวต่อไปอีกว่า ประเทศไทย แม้จะมีการพูดถึง Blended Learning มาระยะหนึ่งแล้วในแวดวงการศึกษา แต่ก็ยังถือเป็นแนวทางใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากการใช้ Blended Learning จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้สอน มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ รวมถึงมีการออกแบบเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนใหม่ทั้งหมดซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากการเรียนการสอนแบบเดิมที่ผู้สอนยังเป็นแกนหลักและส่วนใหญ่ยังต้องเรียนในห้องเรียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :