รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า หากประเมินจากทรัพยากรเชิงระบบสุขภาพแล้ว เราคงต้องช่วยกันกดการระบาดระลอกสามนี้ลงให้ได้ภายในเดือนพฤษภาคม ยิ่งติดเชื้อระดับพันกว่าเช่นนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะวิกฤติ เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้น เป็นการสูญเสียที่ต้องรีบหยุดยั้งให้ได้
ตราบใดที่ธรรมชาติของโรคระบาดนั้นสัมพันธ์กับการพบปะติดต่อกัน จำนวนคนยิ่งมาก จำนวนครั้งที่เจอหรือมีปฏิสัมพันธ์ยิ่งมาก เวลาที่พบปะติดต่อกันยิ่งนาน การแพร่ระบาดยิ่งเป็นไปได้มาก เชื่อว่าไม่มีใครหรอกที่อยากหยุดเศรษฐกิจและการทำมาหากิน แต่การเคลื่อนไปพร้อมกับการระบาดที่รุนแรง กระจายไปทั่วนั้น อาจเปรียบเหมือนเอาเรือเล็กออกจากฝั่งไปหาปลากลางมหาสมุทรที่มีพายุรุนแรง
ยิ่งหากห่างฝั่งออกไปมากเท่าใด ระบบกู้ภัย กู้ชีพ ก็ยิ่งยากจะเข้าถึงได้ทัน การหาปลาในมหาสมุทรที่มีพายุรุนแรงนั้น คิดตามหลักเหตุและผล ไม่น่าทำ
หากจะออกเรือไปท่ามกลางอากาศแปรปรวน ก็ต้องแน่ใจว่าเรือนั้นมีความใหญ่โต แข็งแรง มีระบบต่างๆ ที่เข้มแข็งมากๆ ทั้งระบบเตือนภัย ตรวจจับภัยคุกคาม สรรพกำลังมาก อุปกรณ์ครบถ้วน หลากหลาย เพียงพอที่พร้อมรับมือได้ทุกสถานการณ์ รวมถึงเรือชูชีพ ฯลฯ
มาถึงจุดหนึ่งที่หากพิจารณาแล้ว วิกฤติมาก อาจต้องพักการเคลื่อนสักพัก เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย พักฟื้นให้มีกำลัง ทำนุบำรุงและเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนออกเรือใหม่ น่าจะเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณา
เชื่อมั่นว่าหากเราทุกคนช่วยกัน ต้องทำได้ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ระยะเวลาสั้นๆ ใส่หน้ากากเสมอ ปิดจมูกปิดปาก หากไม่ลำบากใส่สองชั้น ชั้นในหน้ากากอนามัย ชั้นนนอกหน้ากากผ้า จะช่วยให้กดแนบชิดใบหน้าได้ดีขึ้น ป้องกันได้ดีขึ้น ล้างมือบ่อยๆ พกเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ใช้ทุกครั้งหลังหยิบจับสิ่งของสาธารณะ ระวังการใช้สุขาสาธารณะ ปิดฝาก่อนกดชักโครก ล้างมือทุกครั้ง และใส่หน้ากากเสมอ เลี่ยงการกินดื่มในร้านหรือโรงอาหาร ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า
งดเที่ยว งดการนัดพบปะสังสรรค์ งดประชุมแบบเจอหน้า เจอกันออนไลน์ไปก่อน คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดงาน แล้วรีบไปตรวจรักษา สู้ไปด้วยกันนะครับ
ด้วยรักและห่วงใยเสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :