วันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,070 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,902 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 160 ราย ต่างประเทศ 8 ราย รักษาหายเพิ่ม 341 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย ทำให้ระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 21,320 ราย กำลังรักษา 19,873 ราย และเสียชีวิตสะสม 27 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 4 รายวันนี้ โดยรายแรกเป็นชายไทย อายุ 72 ปี กทม. ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีประวัติไปในพื้นที่เสี่ยง, รายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 74 ปี จ.สงขลา เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ, รายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี จ.สมุทรปราการ มีโรคอ้วน เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และรายที่ 4 เป็นชายไทย อายุ 83 ปี จ.สมุทรปราการ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตเรื้อรัง และโรคหัวใจ จะเห็นได้ว่าการระบาดระลอกนี้อัตราการเสียชีวิตมากกว่าปกติ มีอาการเปลี่ยนแปลงของโรค เช่น เกิดอาการปอดอักเสบค่อนข้างเร็ว ทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเร็วขึ้น ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาข้อมูลและนำไปปรับใช้ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 22 เมษายน 2564 ฉีดสะสม 964,825 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 834,082 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 130,743 ราย เฉพาะวันที่ 22 เมษายน ฉีดได้ 99,985 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 87,465 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 12,520 ราย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 413,117 คน เข็มที่ 2 จำนวน 60,489 คน รวมแล้วกว่าร้อยละ 90 จะเร่งฉีดให้บุคลากรส่วนที่ยังตกค้างในคลินิกให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เกิดความครอบคลุม รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ระบาด และจังหวัดท่องเที่ยว
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า การระบาดระลอกนี้เริ่มจากสถานบันเทิง และกระจายไปในหลายจังหวัด รวมถึงในสถานที่ทำงาน ครอบครัว และชุมชนเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการทำกิจกรรมร่วมกัน การรับประทานอาหาร พบปะสังสรรค์ แม้แต่การสังสรรค์ในบ้านก็ทำให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัวและผู้สูงอายุได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของประชาชนเพื่อหยุดการระบาดและควบคุมโรค
ขณะนี้ประเทศไทย ได้ดำเนินการใน 4 มาตรการหลักเพื่อควบคุมโรค ได้แก่ มาตรการสาธารณสุข ค้นหาผู้ป่วย ติดตามผู้สัมผัส กักกันโรค, มาตรการทางสังคม ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ลดกิจกรรมรวมกลุ่ม หลีกเลี่ยงการเดินทาง, มาตรการองค์กร ได้แก่ ทำงานที่บ้าน (Work from home) ให้มากที่สุด, จัดสถานที่ในที่ทำงานให้ปลอดภัย หากพบผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อในที่ทำงาน อย่าตระหนก ให้ประเมินความเสี่ยงและงดกิจกรรมรวมกลุ่มทุกกรณี และมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด เชื่อว่าหากร่วมมือร่วมใจกัน สัปดาห์หน้าจะเห็นผลซึ่งจะนำไปเป็นข้อมูลเสนอต่อ ศบค. ในการปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์
สำหรับด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้จังหวัดท่องเที่ยวได้รับการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อได้ เช่น จังหวัดภูเก็ต ได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเป้าหมายแล้วเกือบทั้งจังหวัด เหลือเพียงประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น
นายแพทย์โอภาสกล่าวถึง ประเด็นที่มีข้อเสนอเรื่องการเร่งฉีดวัคซีน โดยให้เอกชนร่วมจัดหาวัคซีนนั้น ได้ประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีทั้งภาครัฐ เอกชน สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมร่วมประชุม ได้ข้อสรุปว่า จะฉีดให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีด 70 ล้านโดส จะเพิ่มให้ได้ 100 ล้านโดส
ขณะนี้มีวัคซีน 65 ล้านโดส จะต้องจัดหาอีก 35 ล้านโดส โดยมี 3 แนวทางคือ 1.ให้ภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ไปจัดซื้อเพิ่มเติม ขณะนี้ได้เจรจาไปแล้วหลายบริษัท 2.ภาคเอกชน โดยสภาหอการค้า ยินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลซื้อวัคซีน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย เช่น แรงงานในโรงงาน 10 ล้านโดส และ 3.โรงพยาบาลเอกชนขอจัดซื้อเอง เพื่อฉีดให้ผู้รับบริการของโรงพยาบาลเอกชน เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ 1.มีระบบการฉีดและดูแลความปลอดภัย ตาม 8 ขั้นตอนที่กรมควบคุมโรคกำหนด 2.ระบบรายงานเชื่อมต่อกัน และ3.มีการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง