วันที่ 24 เม.ย.64 เวลา 11.30 น. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค. รายงานสถานการณ์ในประเทศไทยว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,839 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,827 ราย มาจากต่างประเทศ 12 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 53,022 ราย รักษาหายเพิ่ม 377 ราย ผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 30,566 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 22,327 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 8 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 129 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ วันที่ 24 เม.ย.64 จำนวน 10 อันดับแรก
1. กรุงเทพฯ 1,582 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 7,097 ราย
2. เชียงใหม่ 151 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 2,985 ราย
3. ชลบุรี 119 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 1,784 ราย
4.นนทบุรี 96 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 1,036 ราย
5. สมุทรปราการ 84 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 989 ราย
6.ปทุมธานี 59 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 469 ราย
7. สมุทรสาคร 57 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 601 ราย
8.สุราษฎร์ธานี 46 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 356 ราย
9.นครสรรค์ 38 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 208 ราย
10.สงขลา 34 ราย รวมตั้งแต่ 1-24 เม.ย. 399 ราย
จากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นำมาสู่คำถามที่ว่า หากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่านี้ ศบค.จะมีมาตรการอะไรที่เข้มข้นกว่านี้ออกมาหรือไม่? เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า เรื่องนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้รับทราบข้อมูลอย่างใกล้ชิด ทีมคณะทำงานได้รายงานสถานการณ์ต่างๆ โดยตรงถึงนายกฯ ซึ่งนายกฯ ได้รับทราบและติดตามผลการประชุมคณะทำงานอย่างเป็นทางการ ในหลายๆ การประชุม ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวว่า “พร้อมที่จะยกระดับ” ในการดูแลพี่น้องประชาชนชาวในภาพรวม
แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือ ข้อมูลชุดนำเข้าจะต้องมีการนำมาวิเคราะห์แยกแยะให้ชัดเจน ว่ากลุ่มก้อนไหนที่เป็นปัญหา และจัดการให้เฉพาะที่ อย่างในขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่า พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่ายังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น มีผู้ป่วยรอรับการบริการทางการแพทย์ ตรงนี้กำลังแก้ไขการ บริหารจัดการที่ต้องทำให้ดีขึ้น ทำให้เคลียร์ เพื่อไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ต้องไม่เอาเชื้อไปแพร่ต่อให้คนในครอบครัว แล้วหาตัวเลขผู้ป่วยที่เป็นจริงมีเท่าไหร่
อีกทั้ง กิจการ-กิจกรรมต่างๆ ก็ต้องพิจารณาเพิ่มเติม อย่างวันนี้ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ก็ได้ลิสต์กิจการ-กิจกรรมที่มีความเสี่ยงออกมา 7-8 กิจการ ซึ่งจะต้องเพ่งเล็งและถูกจัดการอย่างไรบ้าง ตรงนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก วันนี้ เลขาฯ ศบค. ระบุว่า ได้รับข้อสั่งการมาแล้ว แต่ต้องนำมาพิจารณาก่อน
ตอนนี้ยังอยู่ในห้วง 2 สัปดาห์ของมาตรการที่ทาง ศบค. ได้ประกาศไปตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นการยกระดับมาตรการใดๆ ก็ตามจะมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่บอกไปว่า ถ้าเราจะยกระดับ เราต้องพิจารณาดูตามพื้นที่ ไม่ใช่ประกาศไปทั่วทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณายกระดับเป็นพื้นที่เฉพาะ อาจเป็นกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออะไรก็แล้วแต่ อยากให้ประชาชนรอเวลาสักนิด ตอนนี้ทางทีมฝ่ายยุทธศาสตร์ยังคงทำงานต่อเนื่องและคิดให้ละเอียดรอบคอบ แล้วจะมีข้อเสนอในเชิงมาตรการออกมาให้รับทราบกันอีกครั้งหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง