รัฐจับมือเอกชน ตั้ง "ทีมประเทศไทย" เร่งจัดหาวัคซีนโควิด19  

28 เม.ย. 2564 | 09:27 น.

ผลการหารือ “นายกฯ” กับ ”ทีมหอการค้าไทย” ตั้ง "ทีมประเทศไทย" ภาครัฐจับมือเอกชน 4 คณะเร่งจัดหา กระจายวัคซีนโควิดให้คนไทย 50 ล้านคนปลายปีนี้

รัฐบาล จับมือกับภาคเอกชน ตั้ง "ทีมประเทศไทย" จำนวน 4 คณะ เพื่อเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด ให้กับประชาชนคนไทย 50 ล้านคน ในปลายปีนี้

โดยวันนี้ (28 เม.ย.64 ) เวลา 10.00 น. คณะกรรมการหอการค้าไทย เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล 

รัฐจับมือเอกชน ตั้ง \"ทีมประเทศไทย\" เร่งจัดหาวัคซีนโควิด19  

จากนั้น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย แถลงถึงการหารือว่า ทางหอการค้าไทยได้รายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง รวมทั้งความร่วมมือต่างๆ กับภาคธุรกิจเอกชนที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ได้รับทราบ โดยภาครัฐยินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำงานเป็นทีมประเทศไทยด้วยกัน ทำงานคู่ขนานไปด้วยกัน

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ทั้งภาครัฐและหอการค้าไทย ถึง แผนการกระจายวัคซีน และวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทย รวมถึงการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็ว โดยมีความคืบหน้าดังนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย

1.  TEAM Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ซึ่งในระยะแรกได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอกทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด 

ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร 

ระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ตามชุมชน และบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง จะนำต้นแบบ (Best Practice) ของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

2. TEAM Communication ทีมการสื่อสาร สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้นความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลทางการของภาครัฐ 
และตั้งทีมคณะทำงานประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP และบริษัทอื่นๆ ยินดีให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารอย่างเต็มกำลังทั้ง Online และ Offline

3.TEAM IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน ได้มีการหารือถึง solution ที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ และหลังจากการสำรวจพื้นที่ศึกษา “หมอพร้อม” เบื้องต้น และทำความเข้าใจขั้นตอนการฉีดวัคซีน ได้ทำหน้าที่เสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนการนำเสนอ Best Practice ต่างๆ มาเป็นข้อมูล 

และให้การสนับสนุนทีมอื่นๆ หลายบริษัทที่เสนอตัวว่ามี Application ในลักษณะที่น่าจะนำมาประยุกต์ได้ เช่น กลุ่มปาร์คนายเลิศเป็นลักษณะการลงทะเบียนและการจองคิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น mobile app ได้ รวมถึงการเสนอตัวของ QueQ, Line Application และ Grab

รัฐจับมือเอกชน ตั้ง \"ทีมประเทศไทย\" เร่งจัดหาวัคซีนโควิด19  

4.TEAM Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมทีมสำรวจความต้องการภาคเอกชน โดยทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28/4/2564) ซึ่งจะนำส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป 

และทีมเจรจาวัคซีนทางเลือกเสริมจากภาครัฐ ภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐในการเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ทันเวลา และพร้อมสนับสนุนภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

รัฐจับมือเอกชน ตั้ง \"ทีมประเทศไทย\" เร่งจัดหาวัคซีนโควิด19  

“นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะไปสนับสนุนภาครัฐนั้น เรายังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ” นายสนั่น กล่าว

นายสนั่น กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ทางหอการค้า ยังได้เสนอแผนที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ได้ทดลองทำ Sand box ของกลุ่มค้าปลีกและทางธนาคารมาแล้ว เพื่อให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan โดยพร้อมที่จะขยายผลต่อไป นอกจากนั้น จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ HUG THAIS ฮักไทย Love Thais, Help Thais “รวมใจ ไทยไม่ทิ้งกัน” โดยกระตุ้นภาคเอกชนและภาคประชาชนในการอุดหนุนสินค้าไทย และธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทย 

รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางภาครัฐได้ให้ความมั่นใจว่า ภาครัฐได้มีการเตรียมการช่วยเหลือ SMEs ไว้ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การทำสินเชื่อ Factoring, Soft Loan, พักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งคืน และอีกหลายโครงการที่สามารถเสริมกันได้อย่างแน่นอน และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอภาคเอกชนเพื่อปรังปรุง กฎหมาย กฎระเบียบให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้สะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศในลำดับถัดไป

ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความมั่นใจเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนของภาครัฐที่จะเข้ามา 100 ล้านโดสในปีนี้ ซึ่งจะครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน โดยในส่วนของภาคเอกชนจะเข้ามาสนับสนุนในด้านการกระจายการฉีดให้กับประชาชน รวมถึงการวางแผนจัดสถานที่สำหรับรองรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนถึงห้วงเวลาและสถานที่ในการเข้ามารับบริการฉีดวัคซีน โดยจะใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือ SME ของสมาคมค้าปลีกว่า ขณะนี้ได้เริ่มต้นทำ Sand Box ขึ้นมา โดยมีข้อมูลลูกค้าประมาณ 6,000 ราย ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์กำลังเร่งพิจารณาอยู่ คาดว่ามี 3,000 รายที่รอการอนุมัติภายในสัปดาห์นี้ และอีก 1,000 ราย จะอนุมัติภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นตัวอย่าง หาก Sand Box นี้ประสบความสำเร็จจะกระจายไปยังธุรกิจอื่น ๆ และธนาคารพาณิชย์อีกด้วยโดยจากการสุ่มทำตัวอย่างในเฟสแรกพบว่าประมาณร้อยละ 70 จะเป็น SME ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยได้รับการเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าในช่วง 99 วันแรกจะดำเนินการให้ได้ถึง 1 แสนราย 

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

นอกจากนี้ ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ประเทศไทยจะมีวัคซีนเข้ามา 100 ล้านโดส มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเร็วที่สุด โดยภาคเอกชนนำโดยประธานกรรมการหอการค้าไทยได้ประสานศูนย์การค้า และสำนักงานใหญ่ของบริษัทหลาย ๆ แห่งที่มีพื้นที่เพียงพอ ซึ่งได้มีการลงพื้นที่คัดเลือกร่วมกับทีมแพทย์ของกรุงเทพมหานคร ภายใต้นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย

โดยได้มีการคัดเลือกมา 14 แห่ง จาก 66 บริษัททั่วกรุงเทพมหานครที่เสนอตัวเข้ามา โดยจะสามารถช่วยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้วันละ 2 หมื่นคน อีกทั้ง หากมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มจะสามารถเพิ่มกำลังการฉีดวัคซีนได้เพิ่มถึงวันละ 3 หมื่นคน ในขณะเดียวกันยังมีห้างค้าปลีกอีก 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงการฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ให้เร็วที่สุด 

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีดีใจที่รัฐบาลและเอกชนจะร่วมมือโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อประเทศไทยเปิดประเทศ นายกรัฐมนตรียังเน้นถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ เอกชน ดูแลกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ให้เกิดความยืดหยุ่นและดำเนินการได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 เช่นเดียวกับการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ใน พ.ร.บ.ทั้ง 31 ฉบับตามประกาศการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีฯ (ฉบับที่ 3) ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นการบูรณาการกฎหมาย เพื่อแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แผนการจัดหาวัคซีนเดิม จำนวน 63 ล้านโดส จัดหาเพิ่มเติม จำนวน 37 ล้านโดส เป้าหมาย 100 ล้านโดส ดูแลคนไทยทุกคนทั่วประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เฉพาะหน้าโดยเฉพาะการนำผู้ป่วยเข้าถึงสถานพยาบาล การเตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องมือ เตียงและยา ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :