12 วิธี สร้างขวัญและกำลังใจทีม WFH อย่างมีประสิทธิภาพ

28 เม.ย. 2564 | 11:28 น.

ในขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ยังคงรุนแรง องค์กรต่างๆ ได้จัดให้ ให้พนักงาน Work From Home (WFH) เพื่อลดการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด แต่การ WFH ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในฐานะผู้นำองค์กร หรือผู้นำทีม จึงต้องรู้จักวิธีที่จะทำให้การทำงานแบบ WFH ได้ผลงานที่ดี มีประสิทธิภาพ พร้อมๆ กับขวัญและกำลังใจของพนักงาน ไม่เสียหายไป


นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป กล่าวว่า นาทีนี้ หลายคนจิตตก ทั้งกลัวติดโควิด กลัวตกงาน เบื่ออยู่บ้าน เครียดกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่บ้าน เพราะนอกจากจะไม่ได้เตรียมสถานที่ไว้สำหรับการทำงานแล้ว ยังมีลูกๆ หลานๆ ที่โรงเรียนก็เลื่อนเปิดเทอมเลยต้องอยู่บ้าน มากวนใจให้วุ่นวาย แถมยังมีผู้ใหญ่อยู่บ้านให้ต้องดูแลอีก

ในฐานะหัวหน้าทีม ควรทำอย่างไรจึงจะช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจให้คนที่ต้องทำงานทางไกล ได้บ้าง

นี่คือ 12 แนวทาง ที่ขอนำมาแลกเปลี่ยน เผื่อบางอันจะเป็นประโยชน์บ้าง

1. หลีกเลี่ยงการถามว่า “มีอะไรให้ช่วยไหม” เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระที่ต้องคอยให้คนอื่นช่วยเหลือแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ลูกน้องโยนปัญหามาให้หัวหน้าอีกด้วย

2. ถามคำถามที่แสดงถึงความเอาใจใส่ห่วงใย เช่น “วันนี้เป็นไงบ้าง” “มีอะไรติดขัดไหม” “ต้องการการสนับสนุนอะไรเพิ่มเติมรึเปล่า”​ เป็นต้น

3. อย่าบังคับให้คนต้องเข้าร่วมกิจกรรมการสร้างทีม (Team Building) หรือกิจกรรมการสร้างสัมพันธ์ทางสังคม (Social Activities) เพราะนาทีนี้ หลายคนอาจยังไม่มีอารมณ์ที่จะมารื่นเริง ปล่อยให้เป็นไปตามความสมัครใจจะดีกว่า

4. ค้นหาสไตล์ในการทำงาน (Work Preference) ของแต่ละคน เช่น บางคนชอบให้บอกเป้าหมายแล้วปล่อยให้คิดวิธีการเอง บางคนอยากคุยแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนก่อนลงมือทำจริง เป็นต้น จากนั้นจงปฏิบัติต่อเขาอย่างที่เขาอยากได้รับการปฏิบัติต่อ

5. หลีกเลี่ยงคำพูดที่สร้างความกดดัน เช่น รีบ, ด่วน, ควรจะ, ต้อง เป็นต้น ให้เปลี่ยนไปใช้คำถามทำนองนี้ เช่น Deadline นี้พอไหวไหม, คิดว่าเราควรเดินหน้าต่อยังไงกันดี เป็นต้น

6. ให้ทางเลือก อย่าทำให้เขารู้สึกว่า "ต้องทำทุกอย่างตามที่ถูกสั่ง" เช่น แทนที่จะพูดว่า “วันนี้พี่ขอนัดประชุม 11 โมง” เป็น “วันนี้พอจะสะดวกประชุมกันตอน 11 โมงหรือบ่าย 2 ดี”

7. อย่าเช็คอินบ่อยๆ เช่น ทั้งเช้าก่อนเข้างานและบ่ายหลังทานข้าวเที่ยง เพราะอาจทำให้พนักงานรู้สึกว่า "หัวหน้าไม่เชื่อใจและจ้องจับผิด"

8. กำหนดเป้าหมายหรือความสำเร็จที่อยากเห็นให้ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานผิดพลาด หรือใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องการเห็น

9. อย่าถามว่า “เป็นไงบ้าง” บ่อยเกินไป เพราะจะกลายเป็นคำถามติดปาก ไม่ได้มีความหมายหรือแสดงความห่วงใยอะไร

10. สร้างบรรยากาศในทีมให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็น โดยการอดทนและตั้งใจฟัง อย่าเพิ่งพูดหรือแสดงความคิดเห็น เร็วเกินไป

11. อย่าแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว เมื่อรู้สึกว่าทีมทำไม่ได้หรือทำไม่ไหว วิธีการแก้ไม่ใช่รับกลับมาทำเอง แต่ให้ใช้วิธีการแก้ปัญหาอื่นๆ เช่น สอนให้ทำ ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น เลื่อนงานที่สำคัญน้อยกว่าออกไปก่อน เป็นต้น

12. ดูแลสุขภาพและรักษาตัวเองให้ปลอดภัย เพราะเราคงไม่สามารถสนับสนุนคนอื่นได้ หากเรายังไม่สามารถช่วยตัวเองได้

การทำงานทางไกลหรือทำงานจากบ้าน ก็มีวิธีการสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงานได้ เพียงแต่ต้องฝึกฝนและลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง