รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า สถานการณ์ทั่วโลก 30 เมษายน 2564...
ทะลุ 151 ล้านไปแล้ว ในขณะที่อินเดียทำลายสถิติอีกครั้ง ติดเพิ่มเกือบสามแสนเก้าหมื่นคน ส่วนอิตาลียอดติดเชื้อรวมเกินสี่ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มถึง 892,171 คน รวมแล้วตอนนี้ 151,081,227 คน ตายเพิ่มอีก 14,991 คน ยอดตายรวม 3,177,692 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดยังคงเดิมคือ อินเดีย บราซิล อเมริกา ตุรกี และฝรั่งเศส
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 54,755 คน รวม 33,038,450 คน ตายเพิ่ม 816 คน ยอดเสียชีวิตรวม 589,153 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่มมากถึง 386,829 คน รวม 18,754,925 คน ตายเพิ่ม 3,501 คน ยอดเสียชีวิตรวม 208,313 คน อัตราตาย 1.1%
บราซิล ติดเพิ่ม 66,871 คน รวม 14,590,678 คน ตายเพิ่มถึง 2,843 คน ยอดเสียชีวิตรวม 401,186 คน อัตราตาย 2.7%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 26,538 คน ยอดรวม 5,592,390 คน ตายเพิ่ม 306 คน ยอดเสียชีวิตรวม 104,224 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 9,284 คน รวม 4,796,557 คน ตายเพิ่ม 364 คน ยอดเสียชีวิตรวม 109,731 คน อัตราตาย 2.3%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
ระลอกสามของเยอรมันนั้นพอๆ กับระลอกสอง จำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดจะมากกว่าเดิมนิดหน่อย (32,546 คน ณ 14 เมษายน 2564 vs 31,553 คน ณ 18 ธันวาคม 2563) ล่าสุดยังเกินสองหมื่นคนต่อวัน ดูแล้วคาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 4-6 สัปดาห์กว่าจะกดการระบาดลงได้จนคงที่ ขอส่งกำลังใจให้คุมได้โดยเร็ว
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
กัมพูชาตอนนี้ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด 880 คน ยอดรวมกว่า 12,000 คนแล้ว ยอดรวมเพิ่มขึ้นสองเท่าในระยะเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
จากธรรมชาติของการระบาดระลอกสามในประเทศต่างๆ ที่ติดตามมา หากมาประเมินเพื่อคาดการณ์สถานการณ์ของไทยเรา เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าเรามีโอกาสที่จะเห็นพีคตอนช่วงสัปดาห์ที่ 1-3 ของพฤษภาคม ถ้าการระบาดของเรามีการดำเนินไปคล้ายกับเค้า
ทาง ศบค.ได้ขันน็อตมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป เพื่อให้หลายต่อหลายฝ่ายมีเวลาเตรียมตัวเตรียมงานก่อนดำเนินการตามมาตรการที่ระบุ แต่ในความเป็นจริง ทุกภาคส่วนควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ หากเป็นไปได้ เพราะโรคระบาดไม่คอยใคร
ระบาดที่จะปะทุขึ้นรุนแรงนั้นจะเกิดได้ในสถานที่ทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศ ที่ประชุม ห้างร้านที่ค้าขายหรือบริการ ที่พักแรม ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้าน หอพัก แฟลต คอนโด อพาร์ตเมนท์ หรือชุมชน/หมู่บ้าน และที่สำคัญมากคือ ขนส่งสาธารณะต่างๆ
วันนี้ขอร้องให้ร้านอาหารและร้านบุฟเฟ่ต์ต่างๆ กรุณาอย่าโฆษณาเชิญชวนให้คนรีบมานั่งกินในร้าน ก่อนจะปิดการนั่งกินในวันพรุ่งนี้ เพราะการประชาสัมพันธ์เช่นนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อกันได้มากขึ้น ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของทั้งพนักงานและลูกค้า 2 สัปดาห์ถัดจากนี้ไปคือ ครึ่งเดือนที่จะวัดใจเราทุกคน และชี้ชะตาของการระบาดครั้งนี้
มาตรการที่ออกมานั้น มุ่งจะให้คนทุกคนในประเทศช่วยกันอยู่นิ่งๆ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ เพราะการระบาดกระจายไปทั่ว ก้าวออกจากบ้านแต่ละครั้งล้วนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจนำเชื้อมาแพร่แก่สมาชิกในบ้าน คนรักคนใกล้ชิด
คำว่าล็อคดาวน์ และเคอร์ฟิวส์ ดูจะเป็นยาขมที่แสลงใจของหลายฝ่าย จึงออกมาในรูปแบบการรณรงค์ ขอร้องให้ทำกัน แทนที่จะบังคับกัน ดังนั้นการควบคุมการระบาดจะสำเร็จหรือไม่ จึงอยู่ที่ประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคม
ถึงเวลาที่ต้องตระหนักถึงภาวะวิกฤติที่เรากำลังเผชิญ
ถึงเวลาที่ต้องทราบว่ามันใกล้ตัวทุกคน
ถึงเวลาที่ต้องรู้ว่าโควิด-19 ครั้งนี้มันโหด แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 65-82% และรุนแรง ทำให้ป่วยมากขึ้นเร็วขึ้น เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น 67%
ถึงเวลาที่ต้องแคร์ เพราะหากปล่อยไว้ นอกจากจะติดกันระนาว ตายกันเป็นใบไม้ร่วง ระบบเศรษฐกิจจะล้ม ยากที่จะเยียวยา และส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ
และถึงเวลาที่ต้องช่วยร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและคนที่เรารัก
อยู่บ้านนะครับ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น และใช้เวลาให้สั้น ใส่หน้ากากเสมอ ปิดปาก ปิดจมูก ใส่สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า จะป้องกันได้ดีขึ้น พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดต่อ ใช้ล้างมือบ่อยๆ หลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ เลี่ยงการพบปะคนอื่น อยู่ห่างกับคนอื่นอย่างน้อยหนึ่งเมตร เลี่ยงการกินดื่มในร้านอาหารโรงอาหารศูนย์อาหารตั้งแต่บัดนี้ ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า
งดตะลอนท่องเที่ยว ไม่นัดพบปะสังสรรค์กับใครต่อใคร ไม่งั้นจะเสี่ยงที่จะกลายเป็น"เราจะไม่ได้เที่ยวด้วยกันอีก" หากไปทำธุระข้างนอกบ้าน กลับบ้านมา อย่าเพิ่งไปคลุกคลีกับคนในครอบครัว ให้ไปอาบน้ำอาบท่าก่อนเสมอ สั่งดีลิเวอรี่ อย่าลืมสเปร์ยแอลกอฮอล์ และล้างมือทุกครั้ง หากไม่สบาย ให้แยกจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด หยุดงาน และรีบไปตรวจรักษา ช่วยเหลือแบ่งปันคนที่ลำบากกว่าเรา ตามกำลังที่เราพอมี
ประเทศไทยต้องทำได้ และต้องอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน
ด้วยรักและห่วงใย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :