ทึ๋ง! นักวิจัยไทยค้นคว้าสำเร็จหน้ากาก Nano Guard ดักจับเชื้อโควิด-กันฝุ่น PM2.5

30 เม.ย. 2564 | 06:30 น.

นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ค้นคว้าสำเร็จ หน้ากาก Nano Guard ดักจับฆ่าเชื้อโควิด-19 พร้อมกันฝุ่น PM 2.5 ได้สูงสุด 99% เผย มีข้อจำกัดเรื่องการผลิตเนื่องจากเครื่องมีขนาดเล็ก ประกาศพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนผลิตเชิงพาณิชย์

30 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้ทุกภาคส่วนต่างระดมสรรพกำลังร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันนักวิจัยต่างๆที่ทำงานศึกษาวิจัยเพื่อช่วยสกัดกั้น ระงับยับยั้งเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างเต็มความสามารถ โดย ผศ.ดร.ณัฐกานต์ สร้อยกาบแก้ว หัวหน้าศูนย์วิจัยวัสดุนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยถึงความสำเร็จของการค้นคว้าวิจัยหน้ากาก Nano Guard นวัตกรรมล่าสุดเพื่อนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในวันนี้

ผศ.ดร.ณัฐกานต์ เปิดเผยว่า เริ่มจากมีรายงานการวิจัยออกมาว่า ไวรัสโควิด-19 มีรูปร่างคล้ายมงกฏ มีขนาดประมาณ 125 นาโนเมตร (Nanometer) จึงมีแนวคิดว่าผลิตหน้ากากที่มีชั้นกรอง หรือว่า รูกรองที่ขนาดเล็กกว่า 125 นาโนเมตร (Nanometer) เพื่อดักจับไวรัสนี้ไว้และที่ไวรัสสามารถอยู่รอดบนพื้นผิวต่างๆ ได้หลายชั่วโมงหรือเป็นเวลาหลายวันตามแต่สภาวะอากาศ จึงเพิ่มตัวอนุภาค Nano Silver เข้าไป เมื่อมีการดักไวรัสนี้ไว้ อนุภาค Nano Silver ก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านี้ได้

สำหรับหน้ากากดังกล่าว คือ หน้ากาก “Nano Guard”เหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเหมาะกับบุคคลที่จะต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับไวรัสโควิด-19 และผลจากการทดสอบยังพบว่าหน้ากาก Nano Guard มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ได้มาก 99 % ซึ่งดีกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การผลิตหน้ากาก Nano Guard ในระดับห้องปฏิบัติการใช้เทคนิค Electrospinning ซึ่งทำได้ช้าเนื่องจากว่าเครื่องผลิตของมหาวิทยาลัยมีขนาดเล็กทำให้มีกำลังการผลิตที่ต่ำ หากต้องการขยายกำลังการผลิตจะต้องใช้เครื่องที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นแล้วก็มีเทคโนโลยีหลายหัวพ่นจะทำให้กำลังการผลิตสูงขึ้นและทำให้หน้ากาก Nano Guard มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนหรือว่าอุตสาหกรรมเพื่อที่จะผลิตและจำหน่ายต่อไป

ผศ.ดร.ณัฐกานต์ สร้อยกาบแก้ว กล่าวว่า ศูนย์วิจัยวัสดุนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เป็นศูนย์วิจัยที่มีมุ่งมั่นและมีเป้าหมายที่จะพัฒนาวัสดุนวัตกรรมเพื่อที่จะตอบโจทย์แก้ปัญหาความท้าทายในด้านความยั่งยืน ประเด็นแรกจะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การพัฒนาวัสดุก่อสร้าง ประเภท Geopolymers หรือว่า Glass-Crete เป็นวัสดุที่มีวัสดุตั้งต้นทำมาจากขยะ จากอุตสาหกรรมหรือว่าขยะจากชุมชน

ประเด็นที่ 2 การพัฒนาพลังงานทดแทนจากวัสดุหมุนเวียนชีวภาพ เช่น เศษพวกข้าวโพดหรือว่าเปลือกแมคคาเดเมีย

ประเด็นที่ 3 การรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือย่อยสลายได้ใช้แทนพลาสติก ซึ่งวัสดุตั้งต้นจากพวกขยะจากทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบสับปะรด ใบต้นกล้วย

ประเด็นที่ 4 การยกระดับคุณภาพของคน การพัฒนาวัสดุทันตกรรมสมัยใหม่เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างการพัฒนาหน้ากาก Nano Guard กัน โควิด-19 และ PM 2.5

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง