สมาคมร้านอาหารฯเชียงใหม่ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าฯ ขอทบทวนคำสั่งห้ามนั่งกินที่ร้าน ชี้กระทบร้านอาหารเชียงใหม่กว่า 14,000 แห่ง ลูกจ้างกว่า 80,000 คน
วันที่ 30เมษายน 2564 เมื่อเวลา10.30 นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการสมาคม เดินทางเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เรื่อง”ขอทบทวนคำสั่งห้ามบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ร้าน”โดยยื่นผ่านทางเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ณ อาคารศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ชี้กระทบหนักร้านอาหารกว่า 14,000 แห่ง ลูกจ้าง 80,000 คน
นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหาร และสถานบันเทิงเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ อยากให้จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทบทวนคำสั่งของศบค. ครั้งที่ 6/2564 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการมาตรการบังคับและควบคุมโรคโควิด-19 โดยที่ประชุมเห็นชอบ กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและ เชียงใหม่ โดยมีมาตรการบังคับให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น และเปิดให้บริการได้ จนถึงเวลา 21.00 น.
จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้สถานการณ์ได้มีแนวโน้มของตัวเลขผู้ติดเชื้อcovid-19 ดีขึ้น โดยตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจากเดิมตัวเลขหลักร้อย ลดลงสู่ตัวเลขหลักสิบ แต่ไม่ทราบว่าจะมีตัวเลขที่ยังไม่รายงานเท็จจริงหรือไม่ จึงเป็นสาเหตุให้จังหวัดเชียงใหม่ถูกนำไปอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม
จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนร้านอาหารทุกประเภทรวมกันกว่า14,751ร้าน (อ้างอิงข้อมูลจาก www.wongnai.com) ผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้างกว่า 80,000 คน ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ทางรัฐบาลมีการเยียวยา ให้ประชาชนในกลุ่มนี้อย่างไร
ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนจังหวัดเชียงใหม่นั้น ร้านอาหารทั่วไป ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารริมถนนฯลฯ ยังไม่มีรายงานว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เพราะร้านส่วนใหญ่มีมาตรการควบคุมการระบาดที่ดี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมอนามัย คอยกำกับดูแลตลอด และในขณะที่ประชาชนในจังหวัดได้มีความตระหนักและการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ขณะเข้าใช้บริการมีการระมัดระวังตัวดีอยู่แล้ว ตั้งแต่ร้านอาหารขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านเล็กและสตรีทฟู๊ด
ทั้งนี้ คำสั่งนี้จะทำให้เกิดผลกระทบกับร้านอาหารกว่า 14,000 ร้านในจังหวัดเชียงใหม่ และพนักงานอีกไม่ต่ำกว่า 80,000 คน ที่อาจต้องปิดร้าน และถูกเลิกจ้าง ผลกระทบโควิด-19 รอบ 3 นี้ ก็ได้รับผลกระทบแบบสุด ๆ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง ร้านกาแฟ และร้านค้าทั่วไป ปกติคนก็ไม่ค่อยจะนั่งทานอยู่แล้ว ยิ่งรัฐบาลออกมาตรการมาแบบนี้ก็ยิ่งทำให้ร้านค้าเหล่านี้แย่ลงไปอีก
คำสั่งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งเชียงใหม่ก็ปิดมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนมาแล้ว แล้วมาเจอแบบนี้อีก ยิ่งแย่ไปใหญ่ เฉลี่ยยอดขายวันละ3,000 บาท/ร้าน มูลค่าความสูญเสียรายได้ทางธุรกิจ 14,000 ร้าน ประมาณ กว่า 40 ล้านบาทต่อวัน
ที่ผ่านมารายได้ก็ลดลงอยู่แล้ว ลดลงไป 50% ถ้ายิ่งมาปิดแบบนี้ ยิ่งไม่ให้ลูกค้ามานั่งทานอีก ก็หายไปอีก 50% อาจจะเหลือแค่ 10% ที่จะได้ขาย บางร้านก็ปิดเลย เพราะรายได้ไม่คุ้ม พอปิดร้านไปเลยลูกจ้างก็ไม่มีงานทำ คนก็จะตกงานเพิ่มขึ้น เพราะเราต้องจ้างเป็นรายวัน เช่น ร้านข้าวมันไก่ ร้านก๋วยเตี๋ยว เขามีลูกจ้าง 3-4 คน พอมาเป็นแบบนี้ให้เขาขายหน้าร้าน ไม่ให้นั่งทาน เราก็รู้อยู่แล้วว่าขายวันหนึ่งได้ไม่กี่ถุงเขาก็ปิด พวกนี้ก็ตกงานไม่มีรายได้
"ถ้าเป็นแบบนี้ 14 วันจริงๆ คิดว่าผู้ประกอบการต้องปรับตัว 2 อย่างคือ กับปิดร้าน กับซื้อกลับบ้าน ไม่มีปรับอะไรสักอย่างเพราะดูแล้ว ขายแล้วไม่ให้ลูกค้ามานั่งทาน ขายไม่ได้หรอก ไม่คุ้มก็ปิดดีกว่าก็เหมือนล็อกดาวน์ตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าจะสุดหรือยัง แต่ถ้ารอบ 1 รอบ2 รอบ 3 อันนี้สุดแล้ว รอบ1 ก็ยังพอมีทุนเดิม รอบ2 ก็ยังแป๊บ ๆ แต่รอบ 3 หนี้ก็ยังใช้ไม่หมด เราขอเรียกร้อง ขอความเห็นใจ ให้ทบทวนตรงนี้ โดยให้นั่งบริโภคอาหารที่ร้านได้และ เปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น. และช่วยเยียวยาโดยเร่งการฉีดวัคซีน"