การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้สร้างผลกระทบให้กับประชาชนคนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานรัฐฯได้ออกมาตรการเยียวยาต่างๆเพื่อช่วยเหลือ -ฟื้นฟู ในส่วนของกลุ่มเปราะบาง ที่มีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และ คนพิการ ที่ดูแลโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้เตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
สำหรับแผนงานหรือมาตรการต่างๆของพม.ที่ออกมาขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเดือนร้อนจากโควิด -19 อาทิ เรามีเรา ทั้งนี้รายละเอียดของมาตรการต่างๆจะมีอะไรบ้างนั้น "ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมมานำเสนอ
"เรามีเราคืออะไร"
ทีม "เรามีเรา" จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 และกำลังประสบปัญหาความยากลำบาก โดยทีม"เรามีเรา"ประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคม และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านคนพิการ จำนวน 15 ทีม
หน้าที่ของ"เรามีเรา"
ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือทั้งในเขตกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค โดยประสานศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ดังนี้
1) ด้านการรับเรื่อง สายด่วน 1300 และ 1479 ได้แก่
1.1) รับแจ้งข้อมูลผู้รับบริการ (มีเอกสารรับรองทางการแพทย์จากหน่วยงานสาธารณสุข) แผนการรักษา สภาพปัญหา และความต้องการความช่วยเหลือ
1.2) แจ้งรายละเอียดการเตรียมความพร้อมของผู้รับบริการก่อนเข้าสถานรองรับของกระทรวง พม.
1.3) ประสานส่งต่อไปยังทีมประสานงานกลาง
2) ด้านการประสานส่งต่อ ประสานงานกลาง ได้แก่
2.1) เจ้าหน้าที่ทีมประสานงานกลางรับการประสานข้อมูลจากสายด่วน 1300 และ 1479
2.2) วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของผู้รับบริการเพื่อเข้าสถานรองรับฯ
2.3) ตรวจสอบสถานะความพร้อมของสถานรองรับฯ
2.4) นำส่งผู้รับบริการจากหน่วยงานสาธารณสุข หรือที่พักอาศัย เพื่อเข้ารับการดูแลในสถานรองรับฯ
3) ด้านการช่วยเหลือดูแล ได้แก่
3.1) แนะนำการปฏิบัติตนในสถานรองรับและข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน
3.2) คัดกรองเบื้องต้น และให้ผู้รับบริการชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าอาคารพัก
3.3) กรณีก่อนกลับบ้าน จะมีการประเมินสุขภาพร่างกายและจิตใจ
3.4) การติดตามผลการช่วยเหลือผู้รับบริการภายหลังออกจากสถานรองรับฯ
นอกจากนั้นแล้วทางพม.ยังวางแนวทางการขับเคลื่อนโครงการให้บริการเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่เดือดร้อน ขาดผู้ดูแล โดยเตรียมสถานรองรับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับกลุ่มเปราะบาง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1) เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีผู้ดูแล เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19
2) เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่รักษาหายจากโรคโควิด-19 แล้ว และกลับมาอยู่ในครอบครัว แต่มีความเครียดวิตกกังวล
3) เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ถูกทิ้งไว้ลำพัง ไม่มีผู้ดูแล
4) เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่ผู้ป่วยติดเชื้อเป็นผู้ส่งเสียเลี้ยงดู
ด้านการบริการ ได้แก่
1) จัดที่พักอาศัย
2) จัดอาหาร 3 มื้อ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
3) ให้คำแนะนำปรึกษา จัดกิจกรรมนันทนาการตามความเหมาะสม โดยนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือผ่านระบบออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
4) กรณีที่มีอาการเจ็บป่วย จะประสานส่งต่อโรงพยาบาล
สำหรับสถานที่รองรับกลุ่มเปราะบางนั้น สามารถรองรับได้ประมาณ 400 คน มีดังนี้
1) กรณีเด็ก (แยกชาย-หญิง) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้แก่
1.1) สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กรุงเทพฯ (เฉพาะเด็กหญิง)
1.2) สถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช จ.ปทุมธานี (เฉพาะเด็กชาย)
1.3) สถาบันพระประชาบดี จ.ปทุมธานี
1.4) สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด จ.นนทบุรี (เฉพาะเด็กชาย)
1.5) สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี (รับเด็กชาย-หญิง)
2) กรณีผู้สูงอายุ (แยกชาย-หญิง) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้แก่
2.1) ที่พักคนเดินทางดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ
2.2) บ้านสร้างโอกาส อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
2.3) ศูนย์ฝึกอบรมผู้สูงอายุบางละมุง จ.ชลบุรี
3) กรณีคนพิการ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง จ.สมุทรปราการ
ส่วนกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ยังมีความวิตกกังวลภายหลังการรักษา และยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในครอบครัวได้ พม. มีเตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่รองรับ และทีมเจ้าหน้าที่สำหรับดูแล
หากครอบครัวไหนที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 และบุคคลในครอบครัวต้องกักตัว 14 วัน ไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้ ทางกระทรวง พม. จะประสานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่เพื่อช่วยบริการส่งอาหารให้ถึงบ้าน รวมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และข้าวสารอาหารแห้ง
สำหรับกรณีต่างจังหวัด ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั่วประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือดูแลในพื้นที่