เส้นทาง"วัคซีน Pfizer"กว่าคนไทยจะได้ฉีด

07 พ.ค. 2564 | 10:26 น.

"นายอนุทิน" เปิดเผยว่าการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ไทยจะได้รับ 10 -20 ล้านโดส ตั้งแต่กรกฎาคม ฐานเศรษฐกิจขอพาย้อนไปดูเส้นทาง"วัคซีน Pfizer"กว่าคนไทยจะได้ฉีด

ตัวแปรสำคัญของศึกโควิด-19 ครั้งนี้ก็คือการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งหากล่าช้านั่นหมายความว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะยืดเยื้อ และอาจเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอกไม่รู้จบสิ้น ผลกระทบที่ตามมาก็คือเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวล่าช้าขึ้นไปอีก 

กว่าที่รัฐบาลจะประกาศเดินหน้าหา “วัคซีนทางเลือก” เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น

Pfizer จำนวน 5-20 ล้านโดส  

sputnik V จำนวน 5-10 ล้านโดส

Johnson & Johnson จำนวน 5-10 ล้านโดส  

Sinovac จำนวน 5-10 ล้านโดส

หรือวัคซีนอื่น เช่น Moderna หรือ Sinopharm หรือ Bharat หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต 

ก็ทำเอาสังคมตั้งข้อสงสัยต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนของไทยนั้น “ล่าช้า” “ประวิงเวลา” หรือแม้กระทั่ง "ผูกขาด" วัคซีนจนตกขบวน เพราะประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX (COVID-19 Vaccine Global Access Facility) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ร่วมมือกับองค์กรวัคซีนกาวี (Gavi) หรือไม่ 

โดยเฉพาะ “วัคซีนไฟเซอร์” ที่มีผลการตรวจสอบอย่างละเอียดบ่งชี้ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก WHO ทั้งในด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ นับเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายแรกของโลกที่ WHO ให้การรองรับส่งผลให้สหราชอาณาจักรอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นชาติแรก

สำหรับคุณสมบัติของวัคซีน Pfizer กลุ่มบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมัน ชื่อวัคซีน BNT162b2 ใช้เทคโนโลยี mRNA

มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ 81.8-95% มีราคาจัดจำหน่ายที่ 570-607 บาท สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ต้องฉีด 2 ครั้ง

ผลข้างเคียงพบ 0.5% เจ็บปวดบริเวณไหล่ ต่อมน้ำเหลืองรักแร้โต หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ มีอาการชาที่ขา

นอกจากนี้ยังเกิดประเด็นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ว่าไทยมีการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์มาแล้วซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาตอบโต้ทันควันว่ายังไม่มีการนำเข้าวัคซีนชนิดนี้แต่อย่างใด     

ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์มาให้ประชาชน โดยประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 10 -20 ล้านโดส ตั้งแต่ไตรมาส 3 ซึ่งก็คือเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยโพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัววันนี้ (7 พ.ค.64) ภายหลังการประชุมหารือกับตัวแทนจากบริษัทไฟเซอร์ นานกว่า 1 ชั่วโมง

เส้นทาง\"วัคซีน Pfizer\"กว่าคนไทยจะได้ฉีด

เส้นทาง\"วัคซีน Pfizer\"กว่าคนไทยจะได้ฉีด

ไฟเซอร์มาแล้ว ประชุมแผนการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ มาให้ประชาชน ได้ข้อสรุปประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 10-20 ล้านโดส เริ่มส่งได้ตั้งแต่ ไตรมาสที่ 3-4 ปีนี้ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับ บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เป็นไปด้วยดี อย.จะอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์ให้เร็วที่สุด ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆ หากมีความพร้อมด้านการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศไทยแบบกำหนดเวลาที่แน่ชัดได้ สามารถติดต่อเข้ามาได้ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมรับข้อเสนอ และพร้อมให้ความร่วมมือ #ไม่ผูกขาดวัคซีน”

สอดคล้องกับผลการประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน ถึงแนวทางในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน

โดยควรกำหนดให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งสถานพยาบาลภาคเอกชนควรคัดเลือกวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกที่มีคุณลักษณะหรือยี่ห้อที่แตกต่างจากวัคซีนที่ภาครัฐนำเข้ามา และสามารถจัดส่งวัคซีนได้ทันภายในปี 2564 รวมทั้งในอนาคตกรณีที่มีการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม ก็สามารถนำเสนอวัคซีนทางเลือกรายการอื่นต่อไปได้
 

อุปสรรคกว่าวัคซีนไฟเซอร์จะที่คนไทยจะได้ฉีด 

เริ่มต้นที่คำว่า “ยังไม่จำเป็น” ย้อนกลับไปเมื่อปีช่วงปลายปี 2563 นายอนุทินกล่าวว่าประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์

แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ไทยเผชิญการแพร่ระบาดของโควิดหลายรอบ รัฐบาลจึงต้องกลับมาทบทวนการเจรจากับบริษัทเวชภัณฑ์หลายแห่งเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือไฟเซอร์  

ในช่วงเวลานั้นมีรายงานว่ารัฐบาลเริ่มเจรจาถึงข้อตกลงกับบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNtech) แต่ยังไม่ได้ลงลึกถึงจำนวนวัคซีนที่ต้องการซื้อ และข้อมูลเชิงลึกที่มากพอ  

“ราคาแพง” เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมยังไม่ทำข้อตกลงบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค เพราะต่อมาไม่นานนายอนุทินได้ออกมาเปิดเผยว่ามีข้อตกลงในการลงทุนร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเพราะมีราคาถูกเฉลี่ยโดสละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 151 บาท) เมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์หรือซิโนแวค (Sinovac) แล้วราคาสูงเพราะไม่มีการร่วมทุนกัน 

ภายหลังรัฐบาลไทยมีการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส ทำให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์ว่าทำไมรัฐบาลถึงต้องใช้วัคซีนเพียงแค่ 2 ยี่ห้อเท่านั้น แม้กระทั่งประเด็นเรื่องการไม่สำรองวัคซีนวัคซีนด้วยเหตุผลว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ 

การมาของวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้อาจเรียกได้ว่ามีปัญหาและอุปสรรคทำให้เกิดความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับความเร่งด่วนที่เกิดขึ้น แม้นายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันว่าการจัดหาวัคซีนไม่ได้ล่าช้าหรือสั่งมาน้อยเกินไป ทุกอย่างเป็นไปตามแผนบริหารจัดการ

เส้นทาง\"วัคซีน Pfizer\"กว่าคนไทยจะได้ฉีด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“อนุทิน” เผย Pfizer พร้อมส่งวัคซีนให้ไทยก.ค.นี้

รัฐลุยจัดหาวัคซีนโควิดทุกยี่ห้อ "Pfizer-Sputnik-Johnson"

ผ่าแผนฉีดวัคซีนโควิด100 ล้านโดส