ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า การประชุมล่าสุด (7พ.ค.) ของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นการเน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนสำรวจจำนวนผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเป็นการภายในก่อน เพื่อรวบรวมจำนวนวัคซีนที่ต้องใช้และแจ้งต่อองค์การเภสัชกรรม
ขณะที่ราคาวัคซีนที่ฉีดจะจัดทำเป็นแพคเกจราคาเดียวกันทั่วประเทศ โดยกำหนดตามต้นทุนของวัคซีน ค่าบริการและค่าประกัน เบื้องต้นได้พูดคุยกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการจัดทำประกันให้กับผู้ฉีดวัคซีนทุกคนซึ่งจะมีผลทันทีตั้งแต่การฉีดเข็มแรก และครอบคลุมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 90-100 วัน โดยกรมธรรม์มีราคาตั้งแต่ 50-100 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ทำประกัน หากมีผลจากการฉีดในระดับปานกลาง จะได้รับค่าคุ้มครอง 1 แสนบาท และหากเสียชีวิตจะได้รับ 1 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า ไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนจะมีขึ้นเมื่อใด เพราะยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน แต่เมื่อได้วัคซีนเข้ามาเมื่อใดก็พร้อมกระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 400 แห่งทั่วประเทศและฉีดให้กับผู้ที่ต้องการได้ทันที โดยเบื้องต้นทุกบริษัทยืนยันว่าจะส่งวัคซีนให้เร็วที่สุด
“สมาชิกโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 400 แห่ง พร้อมช่วยรัฐในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเป็นการฉีดให้ฟรีอยู่แล้ว ขณะที่วัคซีนทางเลือกจะเป็นอีกส่วนที่โรงพยาบาลจะให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการฉีด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยมีอภ.เป็นผู้นำเข้าให้”
ด้านนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่จัดซื้อ จัดหา ยาและเวชภัณฑ์ให้ประเทศโดยตรง ดังนั้นอภ. จึงต้องอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชน โดยเป็นจิ๊กซอว์ ในการจัดหาวัคซีนตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดว่าจะซื้อขายกับหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น
“องค์การเภสัชกรรม ต้องทำหน้าที่นำเข้าวัคซีน ไม่ได้มีเจตนาผูกขาดตามกระแสที่แชร์ในโลกโซเชียล ถ้าเป็นสินค้าในภาวะปกติ บริษัทผู้นำเข้าที่ขึ้นทะเบียนแล้วก็สามารถนำเข้าให้กับเอกชนได้เลย แต่ในภาวะฉุกเฉิน อภ.ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำเข้าและกระจายให้กับรพ.เอกชน”
สำหรับวัคซีนที่มีแนวโน้มจะนำเข้าคือโมเดิร์นนา ซึ่งได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา คาดว่าจะได้รับการอนุมัติเร็วๆนี้ ซึ่งต้องรอดูว่าจะสามารถนำเข้าได้เร็วสุดเมื่อใด อีกวัคซีนที่น่าสนใจคือ ซิโนฟาร์ม ซึ่งขณะนี้รอยังไม่มีการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียน และบารัต ไบโอเทค ซึ่งอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนกับอย.
ทั้งนี้จากที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนฯ ระบุชัดเจนว่า วัคซีนจะถูกกำหนดให้เป็นราคาสินค้าควบคุม ไม่มีการค้ากำไรจากวัคซีน โดยอภ.จะทำหน้าที่สั่งซื้อนำเข้าและชำระเงินจองวัคซีนแบบ 100%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :