ผู้ติดเชื้อรายใหม่เชียงใหม่เจออีก 2 คลัสเตอร์ "ดอยสะเก็ด-แม่วาง" จากการแพร่กระจายในครอบครัวแล้วขยายถึงชุมชน จะเพิ่มการสุ่มตรวจในกลุ่มรถชนส่งสาธารณะ รถรับจ้าง รถขนส่งสินค้าผัก-ผลไม้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 วันที่ 8 พ.ค. ของจังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จำนวน 26 ราย โดยมีสาเหตุมาจากคลัสเตอร์เล็ก ๆ ใน 2 อำเภอ แต่ยังถือว่ายอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลงต่ำกว่า 50 คนมาเป็นเวลา 6 วันติดต่อกันแล้ว รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,869 ราย รักษาหายแล้ว 3,067 ราย และยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 793 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงเท่าเดิม 9 ราย สำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตัว แยกเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 602 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 119 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 43 ราย และอาการหนัก (สีแดง) 20 ราย
ส่วนความเสี่ยงในการติดเชื้อพบว่า เป็นการสัมผัสในครอบครัว ในชุมชน และในสถานที่ทำงาน ยังคงมีแนวโน้มสูงอยู่ ด้านการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ทางทีมงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเชิงรุกในกลุ่ม Rider Food Panda จำนวน 133 ราย ผลไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนที่สั่งอาหาร ยังคงต้องรักษามาตรการป้องกันโรค โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยขณะรับสินค้า และล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์หลังรับสินค้าอย่างเคร่งครัด
ส่วนคลัสเตอร์ของจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้ยังไม่มีคลัสเตอร์ที่พ้นระยะเฝ้าระวัง เนื่องจากจะต้องเฝ้าระวังต่อไปอีก 28 วัน หลังพบผู้ป่วยรายสุดท้าย ทำให้มีคลัสเตอร์ที่อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง 12 คลัสเตอร์ ซึ่งไม่พบผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 12 วันแล้ว ส่วนคลัสเตอร์ที่ยังพบผู้ติดเชื้อ มีอยู่ 3 คลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์เดิมคือ คลัสเตอร์แม่อ้อใน อำเภอเชียงดาว ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย เป็นภรรยาของผู้ป่วยรายแรก ตรวจ 2 ครั้งแรกไม่พบเชื้อ เมื่อเริ่มมีอาการจึงตรวจครั้งที่ 3 จึงตรวจพบเชื้อ
นอกจากนี้ มีการตรวจพบกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ อีก 2 กลุ่ม จากงานเลี้ยงวันเกิดที่อำเภอดอยสะเก็ด และแพร่กระจายกันภายในชุมชนและครอบครัว โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นพนักงานขับรถขนส่งสินค้า และเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าจังหวัดในระบบ CM CHANA จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามตัวได้ และได้มีการจัดงานเลี้ยงวัดเกิดให้กับภรรยา มีผู้ร่วมงานมากกว่า 20 คน ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 5 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดขณะนี้ 9 ราย
ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่กลุ่มที่ 2 จากอำเภอแม่วาง พบผู้ป่วยทั้งหมด 8 ราย โดยพ่อแม่ ไปเที่ยวสถานบันเทิงช่วงต้นเดือนเมษายน ส่วนลูก 2 คน ผลครั้งแรกเป็นลบ จึงให้ย่าจากลำพูนมาช่วยดูแล ร่วมกับพี่เลี้ยง และอา มีเด็กเพื่อนบ้านอีก 2 คนที่มาเล่นด้วยกัน ทั้งหมดตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในภายหลัง ซึ่งจากช่วงเวลาของการรับเชื้อ (ไทม์ไลน์) พบว่าเกิดจากการรับเชื้อจากพ่อแม่ที่ไม่มีอาการ ก่อนที่พ่อและแม่จะเข้ามาอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม จึงเป็นผู้ที่แพร่ระบาดต่อไปยังต่อคนรอบข้างได้ ซึ่งการตรวจพบเชื้อได้ตรวจพบเชื้อในภายหลัง
ทั้งนี้ ดร.ทรงยศ ได้ประชาสัมพันธ์ถึงผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังทั้ง 7 กลุ่มโรค ให้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน Astrazeneca โดยสามารถลงทะเบียนได้ทาง Line หมอพร้อม หรือที่โรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาตัว โรงพยาบาลประจำตำบล หรือ อสม. โดยสัปดาห์หน้าจังหวัดเชียงใหม่จะทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยให้ อสม.เคาะประตูบ้านเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีน และขอย้ำว่าเบื้องต้นจะเริ่มฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังทั้ง 7 กลุ่มโรค ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไป อายุ 18-59 ปี จะเปิดให้จองฉีดวัคซีนเดือนกรกฎาคม 2564 ต่อไป
นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางเข้ามายังพื้นที่หมู่บ้านชุมชน โดยเรื่องนี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัดชายแดนเฝ้าระวังตรวจตรา ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ เน้นย้ำอำเภอที่ติดชายแดน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่อาย ฝาง เชียงดาว ไชยปราการ และอำเภอเวียงแหง รวมทั้งอำเภอที่ติดต่อกับจังหวัดชายแดน คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก โดยพบว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ได้ทำการจับกุมกลุ่มแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ในพื้นที่ของอำเภอฮอดและอมก๋อย ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างยิ่งในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ตั้งจุดตรวจจุดสกัด รวมทั้งมีการป้องกันการลักลอบกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาในพื้นที่ พร้อมทั้งกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน รวมทั้งอาสาสมัครต่างๆในพื้นที่ สอดส่องและตรวจตราบุคคลที่เดินทางเข้าออกในหมู่บ้านของตน เพื่อไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาในพื้นที่ และขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยกันดูแลสอดส่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของสถานประกอบการ เจ้าของหอพัก และเจ้าของโรงงาน ห้ามมิให้มีการจ้างงานหรือการให้ที่พักพิงแก่แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเข้าพัก
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้เพิ่มแนวทางในการสุ่มตรวจหาเชื้อ กลุ่มรถรับจ้าง และรถขนส่งสินค้าผัก ผลไม้ โดยทางจังหวัดจะได้มีการประสานขอรายชื่อผู้ขับรถขนส่งสาธารณะ และรถบรรทุกผัก ผลไม้ สินค้านำส่ง ที่มีการเดินทางระหว่างจังหวัด เพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อในทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จะได้มีการกำหนดมาตรการการตรวจคัดกรอง เนื่องจากมีการเดินทางไปหลายพื้นที่ที่อาจเป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป