ศธ.เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม”ครูพร้อม” เป็นแหล่งเรียนรู้กลางหนีโควิด

11 พ.ค. 2564 | 08:09 น.

ศธ.เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม “ครูพร้อม” เป็นแหล่งเรียนรู้กลางทางกการศึกษาปลอดภัย ใต้วิกฤตโควิดระลอกสาม วางแผนดำเนินงาน 2 ระยะ

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม  นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก ร่วมแถลงข่าว “ศธ.รวมพลังจัดการศึกษาปลอดภัย
ใต้วิกฤตโควิดระลอกสาม”
ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ETV และเฟซบุ๊กองค์กรหลัก รวมทั้ง “ศธ.360 องศา”

ตามที่ ศธ.ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาในสังกัด เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ระลอกสามยังมีความรุนแรง เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ ผู้ปกครองมั่นใจในความปลอดภัยของบุตรหลาน  ศธ.จึงได้เตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษา โดยได้วางแผนการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค. ก่อนเปิดภาคเรียน 11 วันทำการ จะเป็นการเตรียมความพร้อมของทั้งครูและนักเรียน โดยมีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นจากเหตุการณ์ร่วมสมัย จัดการเรียนรู้ของจริง ประสบการณ์จริง เพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็กไทยต่อเนื่องไม่หยุดชะงักลง ซึ่ง ศธ.จะจัดทีมพี่เลี้ยงเพื่อให้คำปรึกษาแก่ครูในการจัดกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว โดยอาจเริ่มจากประเด็นการเรียนรู้ในเรื่องสถานการณ์โควิดเป็นลำดับแรก
  • ระยะที่สอง ตั้งแต่การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะเป็นการจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ คือ On-Site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.), On-Air เรียนผ่าน DLTV, On-Demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ, Online เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต, On-Hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือแบบฝึกหัดใบงาน และในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ เช่น วิทยุ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนที่โรงเรียน หรือ On-Site

ในส่วนของการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ ขณะนี้ ศธ.เตรียมจัดทำ Web Portal ขึ้นมาใหม่ เพื่อเสริมแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่หน่วยงานในสังกัด ศธ.มีอยู่ โดยจะเป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรม ซึ่งมีข้อมูลทั้งของ สพฐ.-สช.-สำนักงาน กศน.-สอศ. แบ่งเป็นหัวข้อ – หมวดหมู่ตามความสนใจ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง ส่วนกิจกรรมรูปแบบออฟไลน์ สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมร่วมกับ ศบค.จังหวัด ซึ่งคิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ร่วมสมัย สิ่งสำคัญคือทุกคนสามารถเลือกหัวข้อหรือกิจกรรมที่ต้องการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ศธ.จะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งต้องให้พื้นที่ประเมินร่วมกับ ศบค.จังหวัดว่าพื้นที่นั้นเหมาะสมกับการเรียนรูปแบบใด โดยมีความมั่นใจและรับประกันได้ว่า เมื่อเปิดเทอมแล้วเด็กทุกคนจะได้เรียนอย่างมีคุณภาพ ครบตามที่หลักสูตรกำหนด

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.จะรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ จากคุณครูที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเป็นชุมชนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผ่านช่องทางที่เชื่อมต่อสู่เว็บไซต์ “ครูพร้อม” เพื่อให้ครูที่พร้อมแล้ว ได้มาช่วยเหลือ แบ่งปัน เพื่อนครูด้วยกัน ซึ่งโครงการของครูพร้อม เกิดจากความห่วงใยว่าเมื่อเลื่อนการเปิดเรียนไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายนแล้ว ในช่วงเวลา 11 วันทำการ ก่อนเปิดภาคเรียน ก็ถือเป็นเวลาที่มีค่าที่จะเป็นทางเลือกให้กับครู ผู้ปกครอง นักเรียน มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการการเรียนรู้ที่โดยจัดไว้เป็น 2 รูปแบบดังกล่าวทั้ง Online และ On-Site ซึ่งเป็นการบูรณาการโดยหน่วยงานทุกสังกัดของ ศธ. รวบรวมเนื้อหาทุกส่วนที่สำคัญมาไว้ในเว็บไซต์เดียวที่เรียกว่า “ครูพร้อม” ซึ่งมีภาคเอกชนมาร่วมด้วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ส่วนด้าน On-Site ในพื้นที่ อาจเป็นการจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิตซึ่งไม่ได้อยู่ในตำรา โดยนำสถานการณ์จริงมาใช้ในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Active Learning จำลองกระบวนการการเรียนรู้ให้เป็นรูปแบบของรูปแบบการส่งเสริมหลักสูตรสมรรถนะซึ่งจะมีการใช้ในปีการศึกษาหน้า ถือเป็นการเอาเวลาที่มีอยู่เหล่านี้ มาเตรียมความพร้อมให้กับครูและนักเรียนในเรื่องของการใช้สถานการณ์จริง ทั้งนี้ นักเรียนและผู้ปกครองสามารถร่วมกิจกรรมได้ตามความสมัครใจ ไม่มีการให้คะแนนผ่าน/ไม่ผ่าน แต่อย่างใด

ขณะที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้เป็นการรวมพลังกันครั้งแรกของ ศธ. ที่จะให้ความมั่นใจกับผู้ปกครอง นักเรียน และครู ถึงแม้จะมีวิกฤตโควิด 19 ก็ตาม การศึกษาจะไม่หยุดยั้งและเดินหน้าต่อไปอย่างหลายวิธี ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือ นักเรียนจะต้องได้รับการศึกษาที่หลากหลาย สนุก น่าสนใจ และปลอดภัย ในช่วง 11 วันก่อนเปิดเทอมนี้ นักเรียนจะสามารถใช้ความรู้ด้านทักษะชีวิตไปช่วยลดภาระพ่อแม่ ส่วนวิชาอื่น ๆ เมื่อเรียนแล้วต้องเอาไปใช้กับบริบทท้องถิ่นและชีวิตประจำวันให้ได้ จึงจะทำให้การเรียนสนุกขึ้นได้ ขณะที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะร่วมสร้างสร้างอาชีพให้กับคนตกงานด้วยองค์ความรู้ด้านการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องน้ำซึ่งเป็นหัวใจของการเกษตร โดยมีหลักสูตรที่จะสอนใหม่ในเทอมหน้าก็คือหลักสูตรชลกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถมาเรียนรู้วิธีบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า บุคลากรของ กศน.มีอยู่ทุกพื้นที่ พร้อมให้ความร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นในการจัดการศึกษาตามสถานการณ์และบริบทแต่ละพื้นที่ และยังมีสื่อโทรทัศน์ ETV ที่ให้การเรียนรู้อย่างเข้าถึง และเข้าใจความต้องการของผู้เรียน ซึ่งเป็นภารกิจของ กศน.เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันด้านโรงเรียนเอกชนก็ได้มีความร่วมมือแบ่งปันความรู้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาช่วยเพิ่มความรู้ เสริมความมั่นใจ พัฒนาหลักจิตวิทยา กระบวนการคิด และทักษะการใช้ชีวิตในยุค New Normal จึงขอเชิญทุกคนร่วมกัน “เรียนรู้ ปรับใช้ พัฒนา ต่อยอด” เพื่อสร้างสังคมให้เข้มแข็งต่อไป

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังแถลงข่าว ถึงความคืบหน้าการเตรียมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าขณะนี้ ศธ.ยังกำหนดให้มีการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 ในวันอังคารที่ 1 มิ.ย.นี้ แต่ยังมีความกังวล เนื่องจาก ศธ.มีนักเรียนนักศึกษาในสังกัดจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน ทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่อาจได้รับเชื้อโควิด 19 จึงพยายามผลักดันให้ข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ทุกคน ทุกสังกัด ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนเปิดภาคเรียน เนื่องจากครูต้องใกล้ชิดกับนักเรียนจำนวนมาก และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง เมื่อเปิดภาคเรียนใหม่ จะสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิด 19 ได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งยังให้ความมั่นใจได้ว่า โรงเรียนมีมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ ศธ.ได้เสนอมาตรการดังกล่าวให้ ศบค.ชุดเล็ก พิจารณา และผ่านการเห็นชอบแล้ว ศธ.กำลังรวบรวมรายชื่อครูทุกอำเภอ ทุกสังกัด ส่งให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสรรวัคซีนให้ครูทั้ง 6 แสนกว่าคน คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสัปดาห์นี้ เพื่อพร้อมสำหรับการทยอยฉีดให้ทันก่อนการเปิดภาคเรียน

“ขอความร่วมมือทั้งครูและนักเรียนหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่มีความจำเป็น เพราะหากครูคนใดคนหนึ่งติดเชื้อ จะส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน และยังเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไปยังเด็กนักเรียนด้วย ขอให้ข้าราชการครูทุกคนได้ปฎิบัติตามมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” ปลัด ศธ.กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง