คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ ทีมแพทย์ 3 สถาบัน”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก เปิดเผยว่า วิกฤติครั้งนี้จะแก้ปัญหาได้ด้วยวัคซีนโควิด -19 ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกพยายามจัดหาวัคซีนฉีดให้กับประชากรในประเทศ โดยขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1,300 ล้านโดส ในขณะที่เป้าหมายต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 1 หมื่นล้านโดส สำหรับประเทศไทย ต้องฉีดให้ได้ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดส ถึงจะหยุดวิกฤติครั้งนี้ได้
ส่วนเรื่องของความเสี่ยงเกี่ยวกับผลข้างเคียงอันไม่พึ่งประสงค์ ถือว่ายังน้อยกว่าความเสี่ยงในการเดินข้ามถนนที่สีลม เพราะฉะนั้น ควรเร่งฉีดให้ได้มากที่สุด
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก กล่าวว่า จากที่คนไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด -19 ไปแล้ว 1.7 ล้านคน ขณะนี้ยังไม่มีใครตายจากการฉีดวัคซีน แต่มีคนตายจากโควิด 19 มี 1-2% ทุกวัน ผลข้างเคียงที่เป็นแผลมี 1 ในแสนคน ส่วนผลข้างเคียงปวด บวม แดง ร้อน ที่มีการรายงานเข้ามามีไม่ถึง 10% สำหรับอาการที่เป็นไข้ตัวร้อน สามารถพบได้ในคนที่อายุน้อย และผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย ซึ่งอาการจะหายภายใน 1-2 วัน แต่เมื่อมีอาการไข้ หลังจากนั้นพบว่าภูมิคุ้มกันจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งไข้สูงภูมิคุ้มกันจะขึ้นดี มันแสดงถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีน
ส่วนคนที่มีอาการชา ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว ซึ่งอาจจะร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย อาการเหล่านี้เป็น 1-3 วัน หลังจากนั้นจะหาย บางคนอาจหายช้าหน่อย แต่หายหมด ส่วนอาการลิ่มเลือดอุตตัน มีน้อยมากหนึ่งในล้าน และในเมืองไทยยังไม่มี หากคนไข้มีอาการลิ่มเลือดอุดตัน ยิ่งควรฉีดวัคซีน
ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฉีดวัคซีน จะทำให้โอกาสการติดเชื้อลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง และเมื่อฉีดครบโดสภูมิต้านทานจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทีมระบาดวิทยาของรามาธิบดี ได้รวบรวมข้อมูลพวกนี้ไว้แล้ว
สำหรับเรื่องของยี่ห้อวัคซีน ประสิทธิภาพของแต่ละยี่ห้อ โดยเฉพาะ AstraZeneca และ Sinovac ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน ใกล้เคียงกันมาก หรือแม้แต่ยี่ห้ออื่นๆ ก็ไม่สามรรถเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ไ่ด้ เพราะในสถานที่การทดลอง สภาพแวดล้อม ไม่เหมือนกันสิ่งที่ต้องเน้นคือ จำนวนผู้ฉีดวัคซีนครอบคลุมได้แค่ไหน ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และป้องกันการแพร่ระบาดได้แค่ไหน
"ยิ่งเวลานานไป หากไม่ฉีดวัคซีน โอกาสการติดเชื้อจะยิ่งมากขึ้นๆ ในขณะที่ฉีดวัคซีน เวลาและการติดเชื้อก็จะห่างออกไป" ผศ.นพ.กำธร กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวย้ำอีกว่า จากที่โพสต์ลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว ได้เขียนถึงการเปรียบเทียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ประเทศฝรั่งเศสมีประชากร 65 ล้านคน ประเทศอังกฤษมีประชากร 67 ล้านคนเท่ากับประเทศไทย ทั้งสองประเทศมีปัญหาโควิดอย่างมากและมีมาตรการต่างๆ รวมทั้งล็อกดาว์น
ส่วนอังกฤษมีปัญหาระบาดหนักในช่วงที่เกิดสายพันธุ์อังกฤษ จนระบบสาธารณสุขของอังกฤษจะไปไม่รอด อังกฤษระดมฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่เดินหน้าปูพรมได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มและสามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 75 โดสต่อประชากร 100 คน ในขณะที่ฝรั่งเศสฉีดวัคซีนได้เพียง 34 โดสต่อประชากร 100 คน (4 พฤษภาคม) จะเห็นผลต่างกันชัดเจน
อังกฤษใช้วัคซีน Pfizer และ AstraZeneca โดยภายหลังใช้ AstraZeneca เป็นหลัก ส่วนฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อมีปัญหาอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับลิ่มเลือดของวัคซีนไวรัสเวคเตอร์ AstraZeneca การฉีดวัคซีนของฝรั่งเศสช้าลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษน้อยกว่ากันกว่าครึ่ง
ผลลัพธ์ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ของอังกฤษอยู่ในหลัก 1,000-2,000 คนต่อวัน และมีการเสียชีวิตหลักหน่วยถึงหลักสิบต้นๆ ส่วนฝรั่งเศสยังมีผู้ป่วยประมาณวันละ 20,000 คน เสียชีวิต 200-300 คนต่อวัน หรือมากกว่ากัน 10 เท่า แสดงให้เห็นการให้วัคซีนในประชากรหมู่มากมีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนต่อระบบสาธารณสุขและชีวิตโดยรวมของประชาชน
เพราะฉะนั้น คนไทยจึงควรรีบฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติในวิถีใหม่ ฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนความกังวลในเรื่องของเชื้อกลายพันธุ์กับผลของวัคซีนนั้น คุณหมอทั้ง 3 สถาบัน กล่าวว่า ขณะนี้เชื้อกลายพันธุ์กับวัคซีนยังสามารถควบคุมกันได้ อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ ไม่มีผล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง