นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ผู้ก่อตั้ง ชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะการระบาดในระลอก 3 นี้ส่งผลกระทบหนักมาก ทำให้ร้านอาหารจำนวนมากกำลังหมดลมหายใจ และมีหลายร้านต้องปิดกิจการ
ชมรมได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. เรื่อง ขอพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารโดยเร่งด่วน เนื่องจากร้านอาหารจำนวนมาก กำลังหมดลมหายใจ โดยนำเสนอถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องการสื่อสารทำความเข้าใจว่า แนวทางต่างๆ ที่ออกมาของภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด
เพราะจากการศึกษาข้อมูลจะพบว่า ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยในปี 2562 มีทั้งหมด 4.2 แสนร้าน แต่ในปี 2564 ธุรกิจร้านอาหารเหลืออยู่เพียง 3.4 แสนร้าน จำนวนที่หายไปราว 8 แสนร้านนั้นล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจร้านอาหารมีกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี และยังจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคลและภาษีอื่นๆให้กับรัฐบาลไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน
ยังเป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่ต่อเนื่องไปยังภาคเกษตรกร ชาวสวน ชาวประมงมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี และยังเป็นธุรกิจที่มีแรงงานอยู่ในระบบจำนวนมาก เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการเยียวยาที่ชัดเจน
ทำให้ร้านอาหารเป็นจำนวนมากทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งแบกรับปัญหาทั้งยอดขายและภาระหนี้สินมาตั้งแต่การแพร่ระบาดในรอบแรก จึงสะสมภาระขาดทุนต่อเนื่อง รวมทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ต่าง ๆ เมื่อมาเจอคำสั่งปิดในรอบที่ 3 นี้ จึงมีผลกระทบกับผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างรุนแรง
โดยจากการพูดคุยกันในคลับเฮาส์ เมื่อวันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ในหัวข้อ “ธุรกิจร้านอาหารกำลังจะหมดลมหายใจ รัฐบาลจะช่วยเหลือไหม?” มีผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารและสมาคมต่าง ๆ ได้ร่วมกันพูดคุยและมีผู้เข้ารับฟังเกือบ 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารจึงได้รวบรวมข้อเรียกร้องขึ้น 8 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย
1. ให้ประกันสังคมอนุมัติจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกันตนทุกตำแหน่งของธุรกิจร้านอาหาร 50 เปอร์เซ็นต์ ของฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข
2. งดจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาสำหรับธุรกิจร้านอาหาร ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งยืดระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.2564
3. ให้ธนาคารแห่งชาติประกาศให้สถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทลิสซิ่งพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี และผ่อนผันการชำระดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน โดยทันที ตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 เป็นต้นไป
4. ให้รัฐบาลประสานงานเจ้าของห้างสรรพสินค้า สถานที่เช่าต่าง ๆ ให้ลดค่าเช่าอย่างน้อย 50 เปอร์เซน รวมทั้งเจ้าของที่ดินและบุคคลทั่วไปที่ให้ร้านอาหารเช่า สามารถนำส่วนลด ไปลดหย่อนภาษี จากรัฐบาลในรอบบัญชีถัดไป
5. ให้รัฐบาลรีบอนุมัติเงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องและประคับประคองธุรกิจร้านอาหาร โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้อย่างง่าย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันผ่านธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, SME Bank สำหรับลูกหนี้รายใหม่และรายเก่าให้สามารถกู้เพิ่มได้ทันที
6. ให้รัฐบาลนำเรื่อง การเก็บเปอร์เซ็นต์จากแอปพลิเคชั่นส่งอาหารและสั่งอาหาร ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้ร้านอาหารเป็นจำนวนมาก ต้องกล้ำกลืนกับบริษัทส่งอาหารและสั่งอาหารที่คิดค่าคอมมิชชั่นมากกว่า 25%-35% มาเป็นเวลานาน และรัฐบาลยังไม่มีมาตรการหรือคำสั่งไปยังผู้ประกอบการเหล่านั้น ให้ปรับลดค่าคอมมิชชั่นลงมาได้ ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 รอบแรก จึงขอให้รัฐบาลจัดการเรื่องนี้โดยเร่งด่วน
7. ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรโควต้าวัคซีนให้กับภาคธุรกิจร้านอาหารโดยเร่งด่วน โดยให้สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ภายในเดือน พ.ค. นี้เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องการสร้างความมั่นใจในเชิงจิตวิทยา ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจร้านอาหารสามารถกลับมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วอีกครั้ง
8. ขอให้รัฐบาลอนุมัติให้ร้านอาหารที่เป็นนิติบุคคลสามารถเข้าร่วมโครงการของทางรัฐบาลที่ออกมาได้ เช่น โครงการไทยชนะ,โครงการเราชนะ, โครงการม.33, โครงการคนละครึ่ง
“วันนี้แม้ศบค. จะมีมาตรการผ่อนปรน โดยให้ร้านอาหารพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด สามารถเปิดให้นั่งทานที่ร้านได้ โดยให้ใช้เงื่อนไขเดียวกันกับพื้นที่สีแดง แต่ให้นั่งทานได้ถึง 3 ทุ่ม และสามารถสั่งอาหารกลับบ้านได้จนถึง 5 ทุ่ม แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง หลายมาตรการมีแนวคิดแต่ไม่คืบหน้า เช่น ค่าจีพีของฟู้ดดีลิเวอรี ฯลฯ
จึงอยากให้นายกฯ ลงมาพิจารณาและหามาตรการเยียวยา เพื่อทำให้ร้านอาหารซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจมหภาค พอที่จะมีแรงและมีช่องทางในการประคับประคองตัวเองได้พอสมควรและสามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งระบบที่มีห่วงโซ่ได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :