สธ.แจงคลัสเตอร์ตากใบคุมอยู่ ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้วัคซีนทุกชนิดช่วยลดอาการได้

23 พ.ค. 2564 | 08:45 น.

สธ.เผยคลัสเตอร์ตากใบ ควบคุมได้แล้ว ส่วนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 รายหายป่วยแล้ว ยืนยันวัคซีนทุกชนิดช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังเชื้อโควิด- 19 สายพันธุ์ต่างๆ ดังนั้น เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขมีความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการเครือข่ายการตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทราบสายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่ 


ที่ผ่านมามีการรายงานพบสายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์อินเดีย ล่าสุดได้รับรายงานจากห้องปฏิบัติการเครือข่ายของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จำนวน 3 ราย จากคลัสเตอร์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส


ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายไทย อายุ 32 ปี ในหมู่ 9 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ มีภรรยาชาวมาเลเซียเดินทางมาเยี่ยม เริ่มป่วยวันที่ 26 เมษายน มีอาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดท้อง และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะนี้รักษาหายแล้ว ส่วนภรรยาเดินทางกลับมาเลเซีย


เมื่อพบกรณีดังกล่าวได้มีการเฝ้าระวัง ค้นหาผู้สัมผัสในครอบครัวและชุมชน พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 698 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 160 ราย พบผู้ติดเชื้อรวม 83 ราย มีอาการน้อยรักษาในโรงพยาบาลชุมชน 35 ราย โรงพยาบาลสนาม 41 ราย และมีอาการปานกลางรักษาในโรงพยาบาลนราธิวาส 7 ราย ปัจจุบันรักษาหายแล้ว 16 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 67 ราย สุ่มตรวจพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 ราย รักษาหายแล้วทั้ง 3 ราย
 

“มาตรการควบคุมโรคได้มีการปิดพื้นที่เพื่อควบคุมและจำกัดการเดินทางเข้าออกตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ถึงปัจจุบัน โดยตั้งด่านตรวจที่หมู่ 4 , 7 , 8 และ 9 มีการค้นหาเชิงรุกและสอบสวนโรค ผู้สัมผัสทุกรายได้รับการกักตัวในสถานที่กักกัน ตรวจตราการลักลอบเข้าเมือง และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) อ.ตากใบ และ จ.นราธิวาส มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ แนวโน้มไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม” 


นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่พบมีลักษณะใกล้เคียงกับที่พบในมาเลเซีย รวมกับประวัติที่สอดคล้องว่าผู้ป่วยคนแรกมีประวัติสัมผัสญาติที่ลักลอบมาจากมาเลเซีย เชื่อได้ว่ามีการติดมาจากมาเลเซีย จึงขอความร่วมมือประชาชนหากพบผู้เดินทางเข้ามาผิดกฎหมายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที 


ส่วนความสามารถการกระจายโรคของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ใกล้เคียงกับสายพันธุ์อังกฤษและอินเดีย ความรุนแรงของโรคไม่ได้มากกว่าปกติ จะเห็นว่าผู้ป่วย 83 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง 


สำหรับการตอบสนองของวัคซีนในสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีข้อมูลบ่งชี้ว่า อาจไม่ดีเท่าสายพันธุ์อื่น แต่วัคซีนทุกชนิดยังสามารถลดการเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ จึงมีประโยชน์ในการให้วัคซีน ส่วนมาตรการป้องกันยังใช้มาตรการทางสาธารณสุข คือ ค้นหาผู้ป่วย แยกผู้ป่วย ค้นหาผู้สัมผัส กักตัว และตรวจหาเชื้อ และมาตรการส่วนบุคคลที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าสายพันธุ์ไหนต้องใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ