“อัจฉริยา คุณพันธ์” Head of People Experience ของวอลโว่ กล่าวว่า วอลโว่ประเทศไทย ไม่มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมเลย ตั้งแต่การรับพนักงาน อายุ เพศ และสถาบันไม่ใช่เกณฑ์ (Criteria) ของการรับพนักงาน สิ่งที่วอลโว่คำนึงถึงคือ ทัศนคติ (Attitude) ประสบการณ์ เพราะวอลโว่เชื่อเรื่องการทำงานเป็นทีม เชื่อเรื่อง One Team มาก
วอลโว่มี 50: 50 Policy ผู้หญิงทุกคนสามารถเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ ตำแหน่งงานของวอลโว่ ไม่มีเรื่องเพศมาเป็นปัญหาและยังเป็นเคพีไอวัดด้วยว่าในแต่ละปี มีพนักงานชายหญิงเท่าไร มีผู้บริหารระดับสูงหญิงชายเท่าไร วอลโว่ไม่ได้มองเรื่องเพศ อายุ แต่มองเรื่องการทำงานร่วมกันเป็นหลัก และการจัดทำสวัสดิการให้กับพนักงาน ก็เปิดรับฟังความต้องการของพนักงานทุกคน เพื่อนำมาปรับใช้และสนองตอบความต้องการของพนักงานจริงๆ
ล่าสุด วอลโว่ได้ออกนโยบาย Family Bond by Volvo Cars ซึ่งประกาศใช้พร้อมกันทั่วโลกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการให้สิทธิวันลา 6 เดือนต่อเนื่องให้กับพนักงาน โดยไม่มีการแบ่งเพศ รวมถึงคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน และกลุ่ม LGBTQ เพื่อมีเวลาในการเลี้ยงดูบุตร
ผู้หญิงถ้าคลอดเอง จะได้รับเงินเดือนเต็ม 100% เป็นเวลา45 วันแรก ส่วนช่วงเวลาที่เหลือใน 6 เดือน จะได้รับเงินเดือน80% และสามารถใช้สิทธิลาคลอดของประกันสังคมได้ด้วย สำหรับผู้ชายได้ 6 เดือนเหมือนกัน แต่จะได้รับเงินเดือน 80% และสำหรับคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน และกลุ่ม LGBTQ หากมีการรับบุตรบุญธรรมก็สามารถลาได้เช่นกัน โดยจะได้รับเงินเดือน 80% ในช่วงที่ลา
จากการทำ Employee Engagement Survey ทุกปี พบว่าการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในการทำงานส่งผลให้ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการทำงานดีขึ้น พนักงานมีความสุข และทุ่มเทให้กับการทำงานดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 23 ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564