นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่ได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ฉบับแรกเมื่อวันที่ 14. พ.ค. ซึ่งผ่านมา 10. วันแล้วแต่ยังไม่มีการตอบรับใดๆ ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิดระลอก 3 ทำให้หลายร้านตัดสินใจปิดกิจการถาวรหรือเจ๊ง เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ แม้รัฐบาลจะออกมาผ่อนปรนให้สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ 25%
"วันนี้หากนายกรัฐมนตรี ไม่ลงมากำกับดูแลเองเพื่อออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือให้กับร้านอาหารทั้งประเทศอย่างตรงจุด โดยเฉพาะใน กทม. ตามข้อเสนอจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 นี้ เชื่อว่าธุรกิจร้านอาหารในกลุ่ม SME ตายทั้งระบบแน่นอน"
สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน กำลังจะร่วงโรยไปตามธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น โรงแรม สปา ร้านนวด เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบปกติไม่ได้ จากการที่ได้หารือกับผู้ประกอบการร้านอาหารหลาย ๆ ที่ ในช่วงตลอดเดือนที่ผ่านมา จะเห็นการประกาศปิดตัวของร้านธรรมดา ร้านชื่อดัง ในหลายจังหวัดกันบ้างแล้ว ผลกระทบเรื่องนี้ เป็นผลของแรงกระเพื่อมจากการที่สายป่านเริ่มขาดกัน
"การปิดกิจการ ไม่ใช่เหตุผลแค่เงินสำรองหมดหรือใกล้หมด แต่เกิดจากการที่มองไม่เห็นว่า ข้างหน้าเราจะแก้เกมต่ออย่างไร เพราะรัฐบาลไม่มีท่าทีจะสนใจดูแลในภาคธุรกิจร้านอาหารเลยก่อนที่ผู้ประกอบการร้านอาหารจะล้มหายตายจากไปอีกจำนวนมาก รัฐควรจะรีบเยียวยาแบบรอบด้าน" นายสรเทพ กล่าวและว่า
ที่ผ่านมาเราวอนขอให้นายกฯลงมาช่วยก่อนที่จะหมดลมหายใจ แต่ก็เงียบหาย เราจึงอยากให้นักข่าวช่วยเป็นกระบอกเสียง ส่งเสียงของพวกเราให้ถึงท่านนายกฯ ธุรกิจเล็กๆ ที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง ธุรกิจเล็กๆ ที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ สร้าง GDP ให้กับประเทศปีละ 400,000 ล้านบาท หรือ 2.5% ของ GDP และสร้างงานให้คนไทยเกือบ 5 แสนคนแต่วันนี้กลับไร้การเหลียวแล
สำหรับข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ที่นำเสนอผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงนายกตู่ ฉบับที่ 2 มี 5 ข้อได้แก่
1. ลดค่าน้ำ ค่าไฟอย่างน้อย 30% ให้กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทุกประเภท ในรอบบิลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป เป็นเวลา 3 เดือน
2. ให้กระทรวงแรงงานช่วยอนุมัติให้ลูกจ้าง พนักงาน ในธุรกิจร้านอาหาร ทั้งมาตรา 33 และมาตร 39 ให้สามารถเบิกเงินช่วยเหลือและชดเชย ค่าแรงได้ 50% ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564 จนถึง 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ได้ทันที โดยไม่ต้องอ้างคำสั่งการปิดร้านจากศบค.
3. ให้เร่งอนุมัติวงเงินกู้ Soft loan ให้กับผู้กู้รายใหม่ ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และมีเงื่อนไขที่น้อยลง และให้ลูกหนี้รายเก่าสามารถกู้เพิ่มเติมได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่เคยกู้ไปแล้ว โดยไม่มีเงื่อนไขที่ยุ่งยาก ได้ทันที
4. ให้พิจารณาอนุมัติโควตาวัคซีน สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ให้สามารถฉีดได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ทั้งหมด
5. ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ไม่สามารถแบกภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย ตามคำสั่งของศบค. ที่อนุญาตให้นั่งทานในร้านเพียง 25% ของที่นั่งทั้งหมด ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารคาดหวังให้นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนคำสั่งโดยอนุญาตให้นั่งทานในร้านได้ 50%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :