แนะ 6 วิธีรู้เท่าทันข่าวปลอม

26 พ.ค. 2564 | 03:15 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2564 | 10:22 น.

กระทรวงดิจิทัลฯ แนะ 6 วิธีรู้เท่าทันและสังเกตข่าวปลอม เตือนใครโพสต์-แชร์ต่อ ระวังโทษคุกสูงสุด 5 ปี

ปัจจุบันข้อมูลในโลกออนไลน์มีมาก การรับและส่งข้อมูลข่าวสาร สามารถทำได้หลากหลายช่องทาง และรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางอินเทอร์เน็ต ที่มีความสะดวกในการรับและส่งข่าวสารต่อ ๆ กัน ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน หรือผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากความตื่นรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจทำให้เกิดสถานการณ์ปั่นป่วนตามมา

ล่าสุด นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะช่วยกันสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน ได้รู้เท่าทันข่าวปลอม รวมถึงป้องกันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ที่บิดเบือน และรู้วิธีสังเกตข่าว เพื่อไม่ให้โดนหลอก 

โดยมีข้อแนะนำ 6 วิธีรู้เท่าทันและสังเกตข่าวปลอม ดังนี้ 

1. ข่าวต้องมีความน่าเชื่อถือ มีแหล่งอ้างอิงที่มาชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ 
2. สังเกตการเรียบเรียงเนื้อข่าว และการสะกดคำต่าง ๆ เพราะข่าวปลอมมักจะสะกดผิด และมีการเรียบเรียงที่ไม่ดี 
3. สังเกตยูอาร์แอล (URL) ให้ดี โดยข่าวปลอมอาจมี URL คล้ายเว็บของสำนักข่าวจริง
4. ดูรายงานข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ว่ามีข่าวแบบเดียวกันหรือไม่ โดยมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ 
5. ตรวจสอบข่าวจากการเสิร์ชหาข้อมูล อาจพบว่าเป็นข่าวเก่า หรือพบการแจ้งเตือนจากเว็บไซต์อื่นว่าเป็นข่าวปลอม 
และ 6. ข่าวปลอมอาจมีการนำรูปภาพจากข่าวเก่ามาใช้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

" อยากเน้นย้ำว่าผู้ผลิตข่าวปลอม บิดเบือน และนำเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพ์ มาตรา ๑๔ ทั้งในเรื่องข้อมูลเท็จ บิดเบือน ปลอมแปลง ทำให้ประชาชนตื่นตะหนก หรือกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ยังอาจได้รับโทษใน ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และที่ห่วงใยประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์วิกฤตนี้ จะต้องพึงระวังในการจะแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 มาตรา 9 (3) กำหนดว่า ห้ามผู้ใดเสนอข่าว มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร 

หรือมีข้อความอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือทั่วราชอาณาจักรมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว

ดังนั้น ทุกครั้งที่ผู้บริโภคสื่อหรือผู้ใช้โซเชียลมีเดีย พบข่าวที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา จึงไม่ควรเชื่อทันที ควรใช้หลักสังเกตและปฏิบัติตาม 6 วิธีข้างต้นก่อนส่งต่อข่าวนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตามจากข้อสังเกตทั้งหมดอาจบอกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ผู้บริโภคสื่อทุกคนจึงควรมีภูมิคุ้มกันตนเองในการรับข่าวสารข้อมูล ตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ หรือแจ้งเบาะแสข่าวที่น่าสงสัย มายังช่องทางของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ช่องทาง Facebook: Anti-Fake News Center 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง