เปิด 4เหตุผล ทำไมต้องต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” อีก2เดือน คุมระบาดโควิด

26 พ.ค. 2564 | 05:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2564 | 12:42 น.

รายงานพิเศษ : เปิด 4 เหตุผล ทำไมต้องต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” อีก2เดือน คุมระบาดโควิด

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 25 พ.ค. 64 ในวาระ ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยพบว่า มี 4 เหตุผลในการต่อ มีรายละเอียดดังนี้ 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอ

เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11) ตั้งแต่วันที่  1 เมษายน 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นในประเทศ

การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สำนักงานฯ) ได้จัดการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นคราวที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 โดยมีเหตุผลและความจำเป็น ตามสรุปผลการประชุม ดังนี้
 
1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ในระดับโลกยังคงปรากฏการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาค โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา และฝรั่งเศส โดยประเทศที่มีการระบาดที่รุนแรงได้แก่ 1) อินเดียมีการแพร่ระบาดของโรค COVD - 19 รุนแรง เนื่องจากพบการกลายพันธุ์ของเชื้อ COVID – 19 สายพันธุ์ B.1.617 พบผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 400,000 คน และ 2) ญี่ปุ่น มีการกลับมาแพร่ระบาดของโรค COVID - 19 อย่างหนักอีกครั้ง

โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ญี่ปุ่นขยายเวลาการบังคับใช้คำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบางพื้นที่จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และขยายพื้นที่บังคับใช้คำสั่งดังกล่าวจาก 4 จังหวัด เป็น 6 จังหวัด

ทั้งนี้ ประเทศที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการให้เปิดร้านอาหาร ร้านค้า และโรงเรียน รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ 1) สหรัฐอเมริกา 2) อิสราเอล และ 3) สหราชอาณาจักร เนื่องจากสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้จำนวนมาก ทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลง

2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ในประเทศเพื่อนบ้านในภาพรวมยังคงน่าวิตกกังวล กล่าวคือ 1) มาเลเซีย ในจังหวัดที่ติดกับชายแดนประเทศไทยพบการติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ นอกจากนี้ ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขในห้วงเดือนรอมฏอน ทำให้รัฐบาลมาเลเซียออกมาตรการห้ามประชาชนเดินทางข้ามเขตและรัฐทั่วประเทศ ยกเว้นได้รับอนุญาต 2) เมียนมา ยังคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองและการใช้ความรุนแรงทำให้มีผู้หลบหนีข้ามแดนมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และ 3) กัมพูชาในพื้นที่ชายแดนพบว่าผู้ที่เดินทางเข้ามามีการติดเชื้อมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

3. สถานการณ์ในประเทศไทย ที่ประชุมเห็นว่าการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีความจำเป็นเนื่องจากปัจจัย ดังนี้

- การติดเชื้อภายในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มระบาดต่อไป มีการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (Cluster) เป็นระยะในพื้นที่เสี่ยง อาทิ ตลาดสด ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เรือนจำ และชุมซนแออัด และยังคงพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพและปริมณฑลรวมถึงข้อห่วงกังวลถึงแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น และการปล่อยข่าวลวงและข่าวบิดเบือนเพื่อสร้างความกลัวต่อการฉีดวัคซีนยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในห้วงวันที่24-28 กรกฎาคม 2564 เป็นช่วงวันหยุดยาวที่จะมีการเดินทางข้ามเขตของประชาชนจำนวนมาก เพื่อกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอันก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID - 19

- สถานการณ์กลายพันธุ์ของเชื้อ COVD - 19 สายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) พบการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวที่กลายพัน(ในประเทศสิงคโปร์และฟิสิปปินส์แล้ว โดยองค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่าเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าวแพร่ระบาดได้ง่ายและอาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องกำหนดมาตรการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อกลายพันธุ์เข้าสู่ประเทศไทยได้ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ระงับการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย(Certificate of Entry - COE) ให้แก่ชาวต่างชาติจากปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล และชาวต่างชาติทุกสัญชาติที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศดังกล่าวแล้ว

- สถานการณ์บริเวณชายแดน การแพร่ระบาดในประเทศรอบบ้านของไทยยังคงน่าห่วงกังวล ได้แก่ 1) เมียนมา อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่แนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้เกิดการอพยพในลักษณะเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมาตรการทางด้านบริเวณชายแดนไทย 2) มาเลเซีย สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงรุนแรงต่อเนื่องและเริ่มปรากฎการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่รัฐที่ติดชายแดนไทย และ 3) กัมพูชา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ยังคงรุนแรง เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4. มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่ายังมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไป เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลดอัตราการเสียชีวิตและปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรด้านสาธารณสุข และการดำเนินการอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน เพื่อให้สถานการณ์ของประเทศกลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :