นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัญหาการปล่อยควันดำจากหอเผาทิ้ง (Flare) ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุระบบจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขัดข้อง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้มีการร้องเรียน และคณะกรรมการควบคุมมลพิษ มอบหมายให้หน่วยงานกำกับดูแล ป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว คพ. จึงได้จัดการประชุมหารือแนวทางการจัดการปัญหาการปล่อยควันดำจากหอเผาทิ้ง พื้นที่มาบตาพุด เพื่อป้องกันการปล่อยควันดำจำนวนมากที่หอเผาทิ้ง
โดยมีอธิบดี คพ. เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียงกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง สำนักงานดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) บริษัท เอ็นไวรอนเมนทอล โซลูชั่น อินทิเกรเตอร์ จำกัด มูลนิธิบูรณะนิเวศ และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดระยอง
นายอรรถพล กล่าวว่า จากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและความเห็น เพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยทิ้งควันดำจากหอเผาทิ้ง ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบกับแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการปล่อยมลพิษจากหอเผาทิ้ง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. ให้ผู้ประกอบการมีการกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อเผชิญเหตุ การดำเนินการแก้ไข และการรายงานสถานการณ์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณะชนให้รวดเร็วขึ้น เสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณา
2. คพ. ร่วมกับ สผ. กรอ. และ กนอ. กำหนดมาตรการที่เหมาะสมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในกรณีการปล่อยมลพิษจากหอเผาทิ้ง เพื่อเสนอคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ประกาศเป็นระเบียบข้อบังคับต่อไป
3. คพ. จะประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีการใช้หอเผาทิ้ง เพื่อกำหนดมาตรการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการปล่อยมลพิษจากหอเผาทิ้ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในรูปแบบกองทุนเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมจากการปล่อยมลพิษจากหอเผาทิ้ง นายอรรถพล กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง