รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่า
น่าจะเป็นข่าวดี ที่ซิโนฟาร์มที่เป็นของรัฐบาลจีนโดยตรงจะเข้ามาได้ และมีข้อมูลว่าสามารถที่จะกระตุ้นได้ทั้งสองระบบ คือภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองโดยที่แม้จะไม่สูงเท่าวัคซีนเทคนิคใหม่ mRNA แต่มีข้อมูลว่าสามารถกระตุ้นระบบเซลล์ได้ และมีความหมายที่ระบบนี้ คือตัวสำคัญในการลดความรุนแรงเมื่อไวรัสไปอยู่ที่อวัยวะสำคัญต่างๆ เช่นในถุงลมและในปอด
และนอกจากนั้นระบบเซลล์จะยังคงอยู่นานกว่าภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง และจากการที่วัคซีนเชื้อตายมีส่วนประกอบของไวรัสทั้งที่หนาม ที่เปลือกและแกนใน จะทำให้มีการป้องกันไวรัสที่กลายออกไป ทั้ง สายแอฟริกัน อินเดียหรือสายอื่นๆ
(ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนอื่นไม่มีลักษณะเช่นนี้ แต่ด้วยส่วนประกอบ และกระบวนการผลิตโบราณ ทำให้ชดเชยในเรื่องของระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง)
สำหรับประเด็นดังกล่าวนี้มาจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้แจ้งให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. – 14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7
อย่างไรก็ดี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย inside thailand กรณี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพิ่มอำนาจนำเข้าวัคซีนโควิด ระบุว่า ไม่ได้ทราบล่วงหน้ามาก่อน ดังนั้น จำเป็นต้องถาม รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ว่า หน้าที่ของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะซ้ำซ้อน กับหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ เพราะการประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ต้องผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ส่วนกำหนดการนัดแถลงข่าว เรื่อง นำเข้าวัคซีนชิโนฟาร์ม กับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันศุกร์ 28 พ.ค.นั้น เป็นกำหนดการมานานแล้ว ไม่เกี่ยวกับ การประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" พบว่า เป็นวัคซีนที่พัฒนาโดย บริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ผู้ผลิตยาสัญชาติจีน ภายใต้ชื่อ วัคซีน BBIBP Cor-V สามารถใช้ได้แล้วในกรณีฉุกเฉิน โดยแนะนำให้ใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นวัคซีนแบบที่ต้องฉีดสองโดส โดยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศรับรองวัคซีนดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 64 ที่ผ่านมา
ซิโนฟาร์มเป็นกลุ่มบริษัทยาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยวัคซีนของบริษัทดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากในประเทศจีนเองแล้ว ยังได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บาห์เรน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ฯลฯ
นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO เปิดเผยว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งผลิตโดยหน่วยธุรกิจของ บริษัท ไชน่า เนชั่นแนล ไบโอเทค กรุ๊ป (ซีเอ็นบีจี) ที่เป็นบริษัทในเครือของซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพเฉลี่ย 79% สำหรับทุกกลุ่มอายุ และ 79% ในกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ว่าการทดลองกับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปยังมีจำนวนน้อย จึงไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุได้
ข้อดีของวัคซีนซิโนฟาร์ม คือ สามารถจัดเก็บได้ง่าย ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนอื่น จึงเหมาะสมอย่างมากสำหรับสภาพแวดล้อมของประเทศกำลังพัฒนาที่อาจจะไม่มีอุปกรณ์พิเศษหรือรถแช่เย็นอุณหภูมิต่ำมาก ๆ สำหรับการลำเลียงขนส่งวัคซีน นอกจากนี้ วัคซีนของซิโนฟาร์มยังมีแถบตรวจสอบบนขวดซึ่งเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิความร้อน จึงสังเกตได้ง่ายว่าวัคซีนปลอดภัยและใช้งานได้หรือไม่วัคซีนซิโนฟาร์มมีราคาจัดจำหน่ายที่ประมาณ 934 บาท/โดส สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18-60 ปี ต้องฉีด 2 ครั้งโดยมีระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ส่วนผลข้างเคียงนั้น หลังฉีดอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว กล้ามเนื้อ ผื่นขึ้น และมีไข้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :