นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงราชกิจนุเบกษาเผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สามารถนำเข้าวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ออกข้อกำหนดหรือเรียกว่า คำสั่งลูกตามมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อขยายความให้มีความชัดเจน ดังนี้
1.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจทางกฎหมายที่จะออกประกาศเพื่อที่จะนำเข้า วัคซีน ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ ถ้าไม่ออกประกาศมา จะไม่สามารถนำเข้าได้ การออกประกาศดังกล่าว เพื่อที่จะมีอำนาจนำเข้า แต่ไม่ใช่ว่า สามารถนำเข้ามาโดยอิสระ ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าไม่ออกประกาศมา จะไม่สามารถขอยื่นอะไรได้เลย เรียกว่า ตกคุณสมบัติ
2.ประกาศดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น และใช้ในช่วงที่วัคซีนขาดแคลน ตามข้อกำหนดที่ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายอำนาจนี้ก็จะหมดไป หรือเมื่อผลิตวัคซีนขึ้นมาในประเทศได้อย่างเพียงพอ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะหยุดการนำเข้าทั้งหมด
3.ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ ดังนั้น ประกาศดังกล่าวเพื่ออุดช่องว่างเท่านั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นการจัดหาซ้ำซ้อนกับทางกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เพราะต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ดี เพียงแต่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งใน/การติดต่อขออนุญาตนำเข้า เหมือนกับเอกชน โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีศักยภาพที่จะไปติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น วัคซีนสปุตนิค วี วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา แต่ต้องผ่านการอนุญาตจากอย. เมื่ออย.เห็นชอบ ก็เอาเข้ามาได้ แต่ทั้งหมดใช้งบประมาณของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง ไม่ได้มาของบรัฐ ไม่เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุข ก็จะไปทำเอง
โรงพยาบาลอื่นๆเช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จะดำเนินการเช่นเดียวกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ยา กำหนดให้ผู้ที่จะนำเวชภัณฑ์ เข้ามาได้ ถ้าเป็นราชการ คือ กระทรวง ทบวง กรม หรือ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐก็เข้าข่ายตรงนี้อยู่แล้ว แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังไม่เข้าข่าย จึงต้องออกประกาศสถานะขึ้นมา เรื่องนี้ได้อธิบายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และผู้อำนวยการ ศบค. รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ทราบแล้ว
นักข่าวถามว่า การที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็ว เพราะองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ลงนามใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ลงนาม ซึ่งพระองค์ท่าน เป็นประธานสภาฯ ดังนั้น บุคคลอื่นลงนามไม่ได้ และกฎหมายก็เขียนไว้ว่า เมื่อเสร็จแล้ว ให้ลงในราชกิจจานุเบกษา ถ้าไม่ออกประกาศ หากไปยื่นขอจาก อย. ก็จะถูกตีกลับ เพราะไม่มีคุณสมบัติ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์หรือวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในประเทศไทยพบว่ามีอยู่ถึง 20 กว่าแห่ง อาทิเช่น 1.โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก กองทัพบก 5.โรงพยาบาลรามาธิบดี 6.โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
7.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 8.โรงพยาบาลราชวิถี 9.โรงพยาบาลเลิดสิน 10.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11.โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 12.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 13.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 14.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร 15.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
16.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 17.โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 18.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข 19.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 20.โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 21.โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาในการนำเข้าวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างมาก โดยมีการนำเข้ามาได้เพียง 6.11 ล้านโดสเท่านั้น และในจำนวนนี้เป็นวัคซีนวิโนแวค 6 ล้านโดส วัคซีนแอสตร้า เซนเก้า 117,000 โดส ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสขยายวงกว้างขึ้นมีอัตราการติดเชื้อวันละ 2,000-3,000 ราย
ส่วนกรณีที่มีการโฆษณาทางสื่อออนไลน์ วัคซีนทางเลือก ในรูปแบบแพคเกจการตรวจโควิด (พ่วงฉีดวัคซีน), แพคเกจการตรวจสุขภาพ (พ่วงฉีดวัคซีน) รวมถึงการเปิดให้จองวัคซีน (พรีออเดอร์) ทั้งที่จ่ายเงินเต็มและวางมัดจำบางส่วน ในระดับราคาตั้งแต่การวางมัดจำ 500 บาท จนถึงแพ็กเกจตรวจสุขภาพ 2 หมื่นบาท
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากมีการโฆษณาใดที่เข้าข่ายเป็นยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงวัคซีน จะต้องได้รับการอนุญาตจากสบส.ก่อน เพื่อป้องกันกรณีที่มีผู้จองแล้ว ไม่ได้วัคซีนตามที่คาดหวัง ผู้จองก็สามารถฟ้องร้องได้ โดยที่ผ่านมาสบส. ได้มีการลงโทษผู้ที่ดำเนินการฝ่าฝืนไปแล้วหลายราย
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564