ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า NIA ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรที่มีไอเดียแปลกใหม่ รวมถึงนวัตกรรมที่สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับโครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า” (The Electric Playground) เป็นอีกโครงการที่น่าจับตามองในปีนี้ โดยมีแนวคิดตั้งต้นจากการเฟ้นหาเด็กไทยที่ฉายแววความเป็นนวัตกรจากเยาวชนกว่า 10,000 คน ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทรนด์พลังงานทางเลือกที่กำลังมาแรง โดยเปิดกว้างให้เด็กๆ สามารถเลือกหยิบปัญหาการจัดการขยะที่พวกเขามองเห็น และออกแบบนวัตกรรมที่จะมาดิสรัปต์ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ ผ่านการสนับสนุนทั้ง 3 ด้านของ NIA ได้แก่ งบประมาณต่อยอดโครงการให้เป็นจริง (Financial) องค์ความรู้สมัยใหม่ (Intelligent) และการสร้างเครือข่าย (Networking) ซึ่งจะทำให้ทุกไอเดียของเยาวชนในโครงการมีโอกาสกลายเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีส่วนช่วยผลักดันกลุ่มเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ให้ก้าวเข้าสู่แวดวงนวัตกรเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศในการเพิ่มจำนวนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
โครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า” เป็นการเปลี่ยนภาพจำการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะแบบเดิม ผ่านการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี ด้วยหลักสูตรกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม “STEAM4INNOVATOR” บนเนื้อหาสาระการเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าและการจัดการขยะ ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนรู้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การลงไปสังเกตปัญหา เลือกหยิบปัญหาที่สนใจ และเลือกที่จะสร้างนวัตกรรมเข้ามาดิสรัปต์วงจรการจัดการขยะในขั้นตอนใดก็ได้ โดยมีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมงานกระบวนการ และทีมนักพัฒนาศักยภาพเยาวชน ที่จะมาช่วยสร้างความสนุกและการมีส่วนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกลุ่มเยาวชนด้วยกันในรูปแบบการประกวดแข่งขัน ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความสามารถอย่างไร้ขีดจำกัด จะนำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในแวดวงนวัตกรรม
สำหรับโครงการฯ นี้ เปิดกว้างให้เยาวชนสามารถออกแบบนวัตกรรมในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้นวัตกรรมที่เข้ามาช่วยการจัดการเชิงกระบวนการที่ชาญฉลาด รูปแบบบริการที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือให้คุณค่าต่อสังคม หรือจะเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นงานอย่างเครื่องแยกขยะ เครื่องจัดการขยะ เครื่องผลิตไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องมือจัดการในการควบคุมมลพิษหรือผลกระทบจากกระบวนการจัดการขยะ หรือการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ดังนั้น การมีพื้นที่ให้นวัตกรรุ่นเยาว์ได้ประลองไอเดียการสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใดก็ตาม ถือว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ประเทศไทยจะได้เข้าใกล้หนทางไปสู่พลังงานทางเลือกมากขึ้น
ด้าน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า สังคมไทยกำลังก้าวสู่การใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) โดยมีรายละเอียดว่า
ภายในปี 2573 จะเกิดการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมในทุกที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานราคาถูก จากการลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาด โดยพลังงานไฟฟ้าแปรรูปจากขยะ นับเป็นหนึ่งในทางเลือกของการผลิตแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งในประเทศไทยมีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง และสามารถแปรรูปไปเป็นพลังงานไฟฟ้า
ในปี 2563 - 2564 กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ได้ให้การสนับสนุนเหล่าภาคีเครือข่าย 25 องค์กร 26 โครงการ ภายใต้แนวคิดหลัก Clean Energy for Life เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า ซึ่งโครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า” เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้รู้จักวิธีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง
การมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์เฉพาะหน้า หากประเทศไทยมีการจัดการปัญหาขยะที่ครบวงจร นั่นหมายถึงการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคผู้ผลิต และผู้บริโภค ความจำเป็นในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าก็จะลดลง สอดคล้องกับปริมาณขยะที่ถูกจัดการมาอย่างถูกต้องและเหมาะสำหรับนำมาแปรรูปเป็นพลังงานจริง ๆ
หากพูดถึงเรื่องการสร้างรายได้จากการแปรรูปขยะเป็นทรัพยากรมีค่าและพลังงานอย่างไรให้ถึงมือประชาชน ก็ต้องเริ่มจากประชาชนทุกคน ให้ความร่วมมือในการแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้ทรัพยากรขยะที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท สร้างมาตรการส่งเสริมแรงจูงใจการแยกขยะในภาคครัวเรือน โดยอาจนำโมเดลการแยก - แลก – ได้เงิน แบบ ‘ซาเล้ง’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง