สถาการณ์โควิดในประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า มีการแพร่ระบาดในตลาดสดเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเป็นจำนวนมาก ทำให้กรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งปิดตลาดทั้งสิ้น 17 แห่ง เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด
กรมอนามัย เปิด 8 มาตรการ คุมตลาดสดพื้นที่สีแดงเข้ม
1. ผู้ประกอบการตลาดต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และผู้ค้าหรือลูกจ้างต้องประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ซึ่งจากข้อมูลการประเมินตนเองของผู้ประกอบการผ่าน Thai Stop COVID Plus พบว่า มีตลาดที่ลงทะเบียนจำนวน ทั้งสิ้น 3,465 แห่ง ผ่านการประเมิน 2,779 แห่ง ไม่ผ่าน 686 แห่ง โดยมาตรการที่ยังดำเนินการได้น้อย คือ การลงทะเบียบเข้า – ออก การควบคุมจำนวนผู้มาซื้อของ และไม่มีการคัดกรองลูกค้า
2. จัดทำทะเบียนแผงค้า ผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในตลาด เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการควบคุม กำกับ ติดตาม
3. จัดทำทะเบียนรถเร่จำหน่ายอาหารที่มาซื้อสินค้าในตลาดเพื่อนำไปขายต่อ
4. เพิ่มมาตรการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อลดการสัมผัส
5. กรณีพบผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานต่างด้าวป่วย ให้หยุดขาย และแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ทันที
6. ปิดตลาดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด
7. หากตลาดเปิดทำการให้มีการสลับแผงค้าให้เหมาะสม เพื่อลดความหนาแน่นของแผงค้าและจำนวนคน เข้มงวดคัดกรองผู้ค้าและผู้ช่วยขายของ ให้มั่นใจว่าไม่ไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการเจ็บป่วยหรืออาจมีผลตรวจยืนยัน
8. ให้ตลาดปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ และเน้นการรักษาความสะอาดอย่างเข้มข้น
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับผู้ซื้อสินค้าภายในตลาดควรมีการประเมินตนเองทุกวันผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนออกจากบ้าน และควรวางแผนการซื้อสินค้าเพื่อลดเวลาการใช้บริการในตลาดต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเข้า-ออก ตามจุดที่ตลาดกำหนดไว้ ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังใช้บริการในตลาดทุกครั้ง กรณีซื้ออาหารปรุงสำเร็จ ควรเลือกอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระเงินสด หรือการสัมผัสกับผู้ขาย หากมีอาการป่วย มีไข้ ไอจาม ให้งดเข้ามาใช้บริการในตลาด
“หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องควบคุม กำกับและติดตามให้ตลาดมีการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ให้เกิดการปฏิบัติจริงจัง โดยบูรณาการงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน สมาคม/ชมรมผู้ประกอบกิจการตลาด และเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด อาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มเติมจากที่กำหนดได้ โดยให้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20)”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง