เปิดเบื้องหลัง "หมอศิริราช" เชือดนิ่มศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

30 พ.ค. 2564 | 06:35 น.

หมอนิธิพัฒน์ เผยเบื้องหลังบทสนทนาหลังได้รับสายจากศูนย์ข้อมูลข่าวปลอม พร้อมวอนช่วยปกป้องละอ่อนตัวน้อยของลุงที่ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด 

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า  ตามที่ได้รับมอบหมายจาก UHosNet ไปร่วมพัฒนาศักยภาพรพ.พลังแผ่นดิน ให้สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดรุนแรงจนถึงวิกฤตได้ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2564 ขณะนี้สามารถรับผู้ป่วยวิกฤตได้ 8 เตียง (advanced mode ventilation, arterial line, central line, และ CRRT) ผู้ป่วยรุนแรงที่ต้องใช้ไฮโฟลว์ได้ 16 เตียง จนถึงวันนี้ได้รับส่งต่อผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจมาแล้ว 1 ราย และไฮโฟลว์ 6 ราย สัปดาห์หน้าจะได้เครื่อง portable ultrasound ไว้ใช้ข้างในอีกหนึ่งตัว

และกำลังวางระบบจัดส่งผู้ป่วยไปทำซีทีสแกนให้ได้อย่างปลอดภัย เห็นได้ว่าที่นี่เป็นไอซียูสนามแห่งแรกในประเทศที่เริ่มใช้งานจริงและมีขีดความสามารถทัดเทียมโรงพยาบาลหลัก เรามีแพทย์ประจำและอาสมัครเพียงพอ แต่ยังขาดแคลนพยาบาลอาสาสมัคร พยาบาลที่นี่เขาขึ้นเวรครั้งละ 6-7 คน เป็นเวลา 12 ชั่วโมง เทียบกับปริมาณงานข้างต้นแล้ว อยู่กันด้วยใจจริงๆ

หลังจากโพสต์เมื่อวานในเรื่องที่เดิมคิดว่าจะช่วยผ่อนคลายยามสถานการณ์โควิดยังเขม็งเกลียว กลับกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปย่อยๆ แถมมีกำลังใจส่งกลับมามากมาย มีบ้างที่แสดงความไม่เห็นด้วยแต่ยังดีที่ไม่ใช้คำพูดสร้างความจงเกลียดจงชัง หลายคนอยากรู้ว่า

ถาม: ตอนรับสายใช้สรรพนามแทนตัวเองว่าอะไร 
ตอบ: ตอนแรกก็จะใช้ว่า “ลุง” นั่นแหละ เพราะความต่างวัยน่าจะได้ แต่ก็เปลี่ยนไปใช้ “หมอ” ที่ทำให้ดูทางการมากขึ้น 

ถาม: ระหว่างสนทนามีตะกอนในอารมณ์ไหม 
ตอบ: ก็เป็นมนุษย์ที่ยังมีกิเลสนี่นา แต่คิดว่าควบคุมไม่ให้มันมาเผาไหม้ใจเราเองได้

ถาม: ไม่กลัวเสียภาพพจน์สถาบันที่สังกัดหรือ
ตอบ: คิดว่าศิริราชของแผ่นดิน และอุรเวชช์ของราชา คงเห็นชอบให้สมาชิกคิด พูด และ ทำเพื่อสังคม โดยไม่หวั่นไหวต่อภัยคุกคามทุกรูปแบบ

ถาม: อยากสื่ออะไรถึงกระทรวงต้นสังกัดเจ้าของเรื่อง ที่น่าจะเป็นกระทรวงเดียวที่มีชื่อทับศัพท์อังกฤษ
ตอบ: ขอบคุณในความห่วงใย เปรียบกับถ้าเราไม่เคยสร้างหนี้ เครดิตบูโรก็จะมองเราว่าไม่น่าเชื่อถือทางการเงิน (ควรต้องดูขีดความสามารถการชำระหนี้ด้วย) พวกระดับสูงที่รับผิดชอบคงอยากให้ผมมีเครดิตด้านการข่าว (ถูกสอบถามข้อมูล) จะได้มีความน่าเชื่อถือด้านการรณรงค์โควิดในสังคมต่อไป แต่หากมีการไล่เบี้ยในหน่วยงานเกิดขึ้นในอนาคต ช่วยปกป้องละอ่อนตัวน้อยๆ ของลุงที่เธอทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุดแล้ว   
#ภาครัฐโปรดสื่อสารความจริงกับประชาชน ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัวรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
    

ประเด็นดังกล่าวจากกรณี่ที่รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความที่กล่าวถึง  การสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 (Covid-19) ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เสมือนการปกปิดข้อมูล หรือซุกขยะไว้ใต้พรหม โดยมีผลทำให้ภาพรวมการเสียชีวิตจากโควิดต่ำกว่าความเป็นจริง  

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าว จนกลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันออกไปเป็นวงกว้าง  โดยมียอดแชร์จากเว็บไซด์ฐานเศรษฐกิจมากกว่า 4.2 หมื่นแชร์ 

จากประเด็นที่นำเสนอได้ถูกส่งไปถึงโฆษก ศบค. จนต้องออกมาระบุว่าจะนำเรื่องไปหารือกับคณะกรรมการวิชาการของกรมหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุขถึงแนวทางที่ถูกต้องว่าควรจะเป็นอย่างไร

หลังจากนั้น รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า ได้รับโทรศัพท์จากละอ่อนนางหนึ่ง เธอแจ้งว่าติดต่อจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิตัล ต้องการตรวจสอบประเด็นเรื่อง หมอศิริราช ระบุแพทย์ปิดบังยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทำให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตโดยรวมต่ำกว่าความเป็นจริง  ทางศูนย์ฯ เรียนถามว่าอาจารย์มีข้อมูลสนับสนุนหรือไม่คะ  เพราะมีการพาดพิง  ทางศูนย์จึงอยากขอข้อมูลค่ะ 

ขอตั้งสติแพล้บ แล้วจึงเอื้อนเอ่ยตอบไปว่า หนู หนูรู้จักโรคโควิด-19 และหลักการลงสาเหตุการเสียชีวิตในรายงานทางการแพทย์แค่ไหน มามะ ถ้ายังไม่รู้ขอเล็คเชอร์ให้ฟังก่อนนะ จะได้มีพื้นฐานพอฟังข้อมูลสนับสนุนที่อยากรู้และยินดีจะเปิดเผยให้ฟัง หล่อนคงมึนงงไปอยู่พักใหญ่ เมื่อยังไม่มีเสียงซักถามเพิ่มจึงสำทับต่อไปว่า ขณะนี้ท่านโฆษกศบค.ก็แถลงไปเมื่อวานแล้วว่า กรณีนี้จะนำเรื่องไปหารือกับคณะกรรมการวิชาการของกรมหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข ว่าแนวทางที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรกันแน่ แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าคงเป็นคลื่นกระทบฝั่งเหมือนคำรับปากจากหน่วยงานรัฐในอีกหลายๆ กรณี 

เมื่อรอสักครู่เพื่อนับหนึ่งถึงสิบตามหลักแพทยศาสตร์ศึกษาเรื่องการไม่รวบรัดความคิดผู้เรียน จนแน่ใจว่าไม่มีประเด็นเพิ่มเติมแล้ว จึงปิดท้ายด้วยการหยอดคำหวานไปว่า ขอให้หนูเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในหน้าที่การงานนะหนูนะ และช่วยไปติดตามเรื่องนี้ต่อจากท่านโฆษกศบค. เพราะมีการพาดพิงตามที่หนูอ้างถึงในเบื้องแรกของการสนทนาวันนี้ 
#ภาครัฐโปรดสื่อสารความจริงกับประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :