“คุณนิกกี้-ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์” ผู้แทนภาคพื้นการท่องเที่ยวอินโดนีเซียประจำประเทศไทยและอินโดจีน เล่าให้ฟังว่า จากตัวเลขการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับประชากรอินโดนีเซีย ที่เริ่มฉีดตั้งแต่มกราคม 2564 ขณะนี้ฉีดไปแล้ว 7-8 แสนราย จากจำนวนประชากรราว 4.4 ล้านคน คาดว่าอีกประมาณเดือนครึ่ง จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรโดยรวมได้ถึง 70% แน่นอน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ทำให้ช่วยสยบการแพร่ระบาดได้ และนั่นคือสัญญาณของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าเกาะบาหลี
แต่...เป็นช่วงนำร่องทดลองโครงการนะ ใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนในเบื้องต้น หลังจากนั้นจะมาพิจารณากันอีกครั้ง
ช่วงนำร่อง อินโดนีเซียจะเปิด 3 เกาะสำคัญ คือ บาหลี (Bali) บาตัม (Batam) บินตัน (Bintan) โดยในเบื้องต้นรัฐบาลได้จัดสรรพื้นที่ กรีนโซน (Green Zones) 5 เขตนำร่องสำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะแรก ได้แก่ เขตอูบุด (Ubud) , ซานูร์ (Sanur) และ นูซา ดัว (Nusa Dua) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาะบาหลี และเขตบาตัม (Batam) บินตัน (Bintan) ของเกาะรีเยา ซึ่งถือเป็นสามเหลี่ยมทองคำเชื่อมระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์
แน่นอนว่า แม้จะเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่มาตรการคุมเข้มยังคงต้องดำเนินต่อ โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามา จะต้องมีเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 (PCR Test) ทั้งก่อนและหลังการเดินทาง พร้อมกักตัว 5 วันซึ่งนักท่องเที่ยวต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และนักท่องเที่ยว ต้องใช้แอปพลิเคชัน Telusur เพื่อติดตามตัวและตรวจสอบหาเชื้อเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยแต่ละเกาะ จะรับเที่ยวบินไม่เกิน 2 เที่ยวต่อวัน ในช่วงแรกของโครงการนำร่อง ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับแอร์ไลน์ต่างๆ และให้สิทธิถือวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวไม่เกิน 60 วัน
ส่วนโรงแรมสำหรับการกักตัว หน่วยงานปกครองท้องถิ่นบาหลีกำลังเร่งดำเนินการและจัดส่งรายชื่อ “คุณนิกกี้” เล่าเพิ่มเติมว่า ตอนนี้กำลังคุยกับบริษัททัวร์และสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และบรรดา บริษัท OTA (Online Travel Agent) ทั้งหลายในการจัดทำแพ็กเกจทัวร์ ซึ่งน่าจะสรุปจบได้ประมาณต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยประเทศเป้าหมายในช่วงนำร่องนี้ มี 6 ประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน สิงคโปร์ ยูเครน และโปแลนด์
“นักท่องเที่ยวอาจจะต้องทำประกันการเดินทาง การฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีหลายบริษัทประกันที่ให้บริการนี้แล้วหรือ เรื่องของวัคซีนพาสปอร์ตก็กำลังพูดคุยกันอยู่ว่าจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร”
การท่องเที่ยวบาหลีในรูปแบบ New Normal จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา คือ การตรวจคัดกรอง และการกักตัว ซึ่งหากประเมินกันง่ายๆ ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ยง่ายๆ ก็เอา 2 คูณเข้าไป ก็จะได้ค่าใช้จ่ายคร่าวๆ สำหรับทริปท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งบอกเลยว่า ประเทศไทยยังไม่ใช่เป้าหมายเพราะอย่างที่รู้ๆกันว่า เรายังหนักหน่วงกับการแพร่กระจาย
เพราะฉะนั้น รักษาเนื้อรักษาตัว แล้วเตรียมงบไว้ ทางอินโดนีเซีย เขามีมาตรการซีเอชเอส ความสะอาด สุขภาพอนามัยและความปลอดภัย (CHS Protocol: Cleanliness, Health, and Safety) ระดับสากล ไว้รองรับสถานที่ท่องเที่ยวเต็มที่ เมื่อโอกาสเปิดก็บินกันได้เลยจ้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564