วันที่ 31 พ.ค.ถือเป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" ซึ่งแต่ละปีจะมีการรณรงค์รวมถึงให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโทษของบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพร่างกาย ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐฯอย่างกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้นำเสนอแนวทาง-วิธีการในการเลิกสูบบุหรี่แบบยั่งยืน
สำหรับแนวทางหรือวิธีการที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้นำเสนอในครั้งนี้ มีด้วยกัน 3 รูปแบบประกอบไปด้วย
รูปแบบที่ 1 วิธีการฝังเข็มของการแพทย์แผนจีน
จากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝังเข็มช่วยกระตุ้นให้ผู้ติดบุหรี่ มีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลงหรือถึงขั้นเลิกสูบได้ เนื่องจากการฝังเข็มมีผลทำให้เพิ่มการหลั่งสาร serotonin ในสมองส่วน hypothalamus ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การย่อยอาหาร และควบคุมการนอนหลับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้การฝังเข็มควรใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ทั้งการรักษาของการแพทย์แผนปัจจุบัน และรวมถึงการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาร่วมด้วย
รูปแบบที่ 2 การใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทย
เช่น การใช้สมุนไพรร่วมกับการ อบสมุนไพร โดยใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาว หรือหญ้าหมอน้อย หรือหญ้าละออง หรือถั่งแฮะดิน ซึ่งจะเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น โดยสมุนไพรดังกล่าวมีสารสำคัญที่ทำให้ลิ้นชาหรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง ปัจจุบันหญ้าดอกขาวถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รูปแบบชาชง
วิธีใช้ นำหญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อ น้ำร้อน 120 - 200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5-10 นาที ดื่มหลังอาหาร วันละ 3 - 4 ครั้ง ข้อควรระวังในการใช้ คือ ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต เพราะหญ้าดอกขาวมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง อาจส่งผลให้โรคประจำตัวกำเริบได้ และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยคือ อาการปากแห้ง คอแห้ง
รูปแบบที่ 3 สมาธิบำบัด
เป็นเทคนิคการฝึกระบบประสาทสัมผัส ให้รับรู้สัญญาณที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัส ทั้ง 6 คือ หู ตา จมูก ลิ้น การเคลื่อนไหว และความนึกคิดพร้อมๆ กัน เป็นการนำประสาทสัมผัสมาสมาธิกันและกัน โดยเทคนิคหรือวิธีการ กระบวนการที่ใช้จะเป็นการจัดระเบียบกำกับการทำงาน ของระบบประสาทสัมผัสทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น และสัมผัส เพื่อปรับสมดุลให้ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทอัตโนมัติและ ระบบประสาทส่วนปลาย และระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้อย่างดี
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การเลิกบุหรี่เป็นเรื่องที่ต้องรู้ 2 ด้าน หลัก ๆ คือ ด้านจิตใจที่มักเกิดจากความเคยชิน และเชื่อว่าสูบแล้วคลายเครียด กับ การติดทางร่างกายซึ่งติดนิโคตินที่เป็นสารเสพติดในบุหรี่ ดังนั้นกรมฯซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระบบสาธารณสุขที่สามารถร่วมหรือรักษาการติดบุหรี่เหล่านี้ได้จึงได้นำเสนอ 3 รูปแบบดังกล่าว
"การเลิกบุหรี่ผู้สูบต้องตั้งใจเลิกเด็ดขาด หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ผู้สูบนึกถึงการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ควรออกกำลังกาย หรือ หากิจกรรมทำยามว่าง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ หากมีบุคคลสูบบุหรี่ในบ้านควรแนะนำให้เลิกพร้อมกัน"
สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถติดต่อขอรับบริการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ หรือสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือ เฟซบุ๊ก และ ไลน์ @DTAM
ข่าวที่เกี่ยวข้อง