WHOเปลี่ยนชื่อเรียกสายพันธุ์โควิดใหม่เลี่ยงใช้ชื่อประเทศต้นตอ

01 มิ.ย. 2564 | 07:40 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเปลี่ยนวิธีการเรียกสายพันธุ์โควิด-19 ใหม่ งดเรียกชื่อตามแหล่งประเทศที่ตรวจพบเป็นครั้งแรก มาเป็นการใช้ตัวอักษรกรีก ลดการตีตราประเทศต้นตอหรือเลือกปฏิบัติต่อประเทศนั้นๆ

วันนี้ (1มิถุนายน2564) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เปลี่ยนวิธีเรียกชื่อไวรัสสายพันธุ์โควิด-19 ที่เกิดการกลายพันธุ์ หลังจากก่อนหน้านี้เรียกแทนด้วยชื่อประเทศที่พบเป็นครั้งแรก มาเป็นการใช้ตัวอักษรกรีก โดยเรียงตามลำดับที่ตรวจพบ

สายพันธุ์ที่น่ากังวล 4 สายพันธุ์ (Variants of Concern; VOC)

  • สายพันธุ์ B.1.1.7 เดิมเรียก “สายพันธุ์อังกฤษ/สายพันธุ์เคนต์” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha)”
  • สายพันธุ์ B.1.351 เดิมเรียก “สายพันธุ์แอฟริกาใต้” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์เบต้า (Beta)”
  • สายพันธุ์ P.1 เดิมเรียก “สายพันธุ์บราซิล” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์แกมม่า (Gamma)”
  • สายพันธุ์ B.1.617.2  เดิมเรียก “สายพันธุ์อินเดีย” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์เดลต้า (Delta)”

WHO

นอกจากนั้นยังมีสายพันธุ์ที่ให้ความสนใจอยู่อีก 6 สายพันธุ์ (Variants of Interest; VOI)

  • สายพันธุ์ B.1.427/B.1.429 เดิมเรียก “สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์เอปซิลอน (Epsilon)”
  • สายพันธุ์ P.2 เดิมเรียก “สายพันธุ์บราซิล” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์ซีต้า (Zeta)”
  • สายพันธุ์ B.1.525 เดิมไม่มีการเรียกชื่อสายพันธุ์ตามสถานที่ กำหนดให้เรียกเป็น “สายพันธุ์อีต้า (Eta)”
  • สายพันธุ์ P.3 เดิมเรียก “สายพันธุ์ฟิลิปปินส์” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์เธต้า (Theta)”
  • สายพันธุ์ B.1.526 เดิมเรียก “สายพันธุ์นิวยอร์ก”  เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์ไอโอต้า (Iota)”
  • สายพันธุ์ B.1.617.1 เดิมเรียก “สายพันธุ์อินเดีย” เปลี่ยนเป็น “สายพันธุ์แคปป้า (Kappa)”

มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ นักระบาดวิทยาของ WHO กล่าวว่า การใช้ชื่อเรียกสายพันธุ์แบบใหม่ “จะทำให้ไม่มีประเทศใดถูกตราหน้าว่าเป็นต้นตอการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์นั้น ๆ”

WHO จึงขอให้ทางการของแต่ละประเทศและสื่อมวลชน หันมาใช้ชื่อเรียกแบบใหม่แทน แต่การเปลี่ยนชื่อเรียกนี้ไม่เกี่ยวกับชื่อทางวิทยาศาสตร์ ที่จะยังคงไว้เหมือนเดิมสำหรับใช้งานโดยนักวิทยาศาสตร์ในงานวิจัย เช่น โควิด-19 B.1.1.7 เป็นต้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ WHO ตั้งชื่อโรคหรือเชื้อไวรัสขึ้นมาใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์ ก่อนที่โลกจะรู้จักคำว่า ‘โควิด-19’ เคยมีการใช้คำว่า ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ กันอย่างแพร่หลาย ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง หรือแม้แต่ในอดีต โรคต่าง ๆ มักถูกตั้งชื่อตามสถานที่ที่เกิดขึ้นหรือระบาด เช่น ไวรัสอีโบลา ใช้ชื่อมาจากแม่น้ำในคองโก อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายให้กับสถานที่เหล่านั้นเพราะมักไม่ถูกต้อง

เช่นเดียวกับกรณี “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ในปี 1918 ซึ่งไม่ความจริงแล้วทราบที่มาว่ามาจากสเปนหรือมาจากที่อื่นกันแน่ รวมไปถึงโควิด-19 ที่อินเดีย ก็ไม่พอใจกับการเรียกโควิด-19 B.1.617.1 และ B.1.167.2 ว่า “สายพันธุ์อินเดีย” ยังมีจีนที่ไม่พอใจตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกโควิด-19 ว่าเป็น “ไวรัสจีน” หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น

ที่มา : WHO / theguardian

ข่าวเกี่ยวข้อง: