จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 1 มิ.ย. 64 อนุมัติโครงการเยียวยาโควิด ที่ชื่อว่า “โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ทางเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com เพื่อรับการสนับสนุนวงเงินในรูปแบบบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) เมื่อซื้อสินค้าและบริการตามที่กำหนด
ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นโครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 268,000 ล้านบาท ช่วย GDP ขยายตัว 0.80%
รายละเอียดโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
เป็นการสนับสนุนวงเงินสิทธิในรูปแบบบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Voucher เมื่อซื้อสินค้าและบริการตามที่กำหนด
การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
- ประชาชนที่เคยใช้จ่ายผ่าน G-wallet สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ตามที่ต้องการ
- ส่วนประชาชนที่ไม่เคยใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com เท่านั้น
- ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลา 06.00 น. – 22.00 น.
การยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
- ต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ยกเว้นผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทยฯ
- หรือผู้ที่มีแอปพลิเคชัน KrungthaiNext และเมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้วจะสามารถใช้จ่ายกับร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ
เงื่อนไขของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
- หากผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ประสงค์จะเปลี่ยนไปรับสิทธิอีกโครงการหนึ่งแทน จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิอีกโครงการหนึ่ง ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 และถือเป็นการสละสิทธิโครงการที่ได้รับสิทธิเดิม
การซื้อสินค้าและบริการที่จะได้รับสิทธิ์โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ได้แก่
- อาหาร
- เครื่องดื่ม
- สินค้าทั่วไป ไม่รวมสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ
- บริการนวด/สปา/ทำผมทำเล็บ
- บริการอื่นตามที่กำหนด
คุณสมบัติและกลุ่มเป้าหมาย ผู้ได้รับสิทธิ์โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
- ประชาชนไม่เกิน 4 ล้านคน
- เป็นประชาชนสัญชาติไทยมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์
- มีบัตรประจำตัวประชาชน
- ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- ไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
- ไม่ใช้สิทธิโครงการ “คนละครึ่ง” ระยะที่ 3
การใช้สิทธิ์โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
- ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”
- เบื้องต้นใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ในเวลา 06.00 น. – 23.00 น.
- ประชาชนสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อนำมาคำนวณสิทธิได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และใช้ e-Voucher ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ผู้ประกอบการที่จะร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
- เป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ
- เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เวลา 06.00 น. – 22.00 น.
- ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แล้ว ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”
- ผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ
การสนับสนุนวงเงินในรูป E-Voucher
- วงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน
- ยอดใช้จ่ายที่นำมาคำนวณสิทธิไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน
- จะได้รับสิทธิ e-Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ
- สิทธิ e-Voucher จะคืนเป็นวงเงินใน g-Wallet ทุกต้นเดือนถัดไป โดยไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้
โดยจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ์ E-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน และไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ e-Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนเพื่อนำไปใช้ต่อ
ยอดใช้จ่ายจริงที่จะได้รับการสนับสนุนE-Voucher
- ตั้งแต่ 1-40,000 บาทแรก ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 10 ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน
- ตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2564 และ 18/2564 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19
เป็นโครงการใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ได้รับสิทธิไม่เกิน 4 ล้านคน ที่ชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ผ่าน g-Wallet โดยวงเงินสำหรับการดำเนินโครงการรวม 28,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเงิน 268,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :