นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การเปิดเทอม หรือ เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิมในวันที่ 14 มิถุนายน 2564
โดยสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบตามแนวทางที่ได้เคยประกาศไป 5 รูปแบบ ได้แก่
ทั้งนี้ สถานศึกษาแต่ละแห่งจะใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และหากสถานศึกษาใดต้องการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ON-SITE หรือเป็นการเรียนที่โรงเรียน จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่นั้น ๆ
อยากให้สังคมเข้าใจตรงกันว่า การเปิดเทอมไม่ได้มีเพียงการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา (ON-SITE) เท่านั้น แต่สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งจะถือเป็นการนับชั่วโมงการเรียนการสอนด้วย สามารถจัดให้มีการผสมผสานรูปแบบการเรียนการสอนมากกว่า 1 รูปแบบได้
ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาต้องตัดสินใจในการเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ให้เหมาะสมกับแต่ละบริบท ของแต่ละพื้นที่ เพราะความเสี่ยงในการแพร่ระบาดไม่ได้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากพื้นที่ใดสามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ ก็ไม่ควรจำกัดสิทธิ์ หรือลดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก แต่ถ้าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หากต้องจัดการเรียนการสอนขึ้น จะต้องมีการเลือกรูปแบบที่มีความปลอดภัยให้แก่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนอย่างสูงสุด.
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมทางไกลผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2564 เพื่อมอบนโยบายการจัดการศึกษาเร่งด่วน (Quick Win) ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สพฐ. ร่วมชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถ่ายทอดสดจากห้องประชุม สพฐ.
รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้ฝากการทำงานในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีความหลากหลาย จึงขอเน้นในเรื่องของการยืดหยุ่น ปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทและพื้นที่ เพื่อให้นักเรียนได้ประโยชน์สูงสุดจากการเรียนที่มีคุณภาพ ได้รับความรู้ทั้งองค์ความรู้และทักษะชีวิต เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้เด็กไม่สามารถเรียนในรูปแบบปกติได้ อาจทำให้ไม่สามารถเรียนรู้องค์ความรู้ได้ทั้งหมด
ดังนั้น ในส่วนนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับการจัดทำ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการปรับปรุงเพื่อให้พร้อมใช้ในปีการศึกษา 2565 โดยหลักสูตรฐานสมรรถนะจะมีเรื่องของการเรียนแบบ Active Learning ที่จะเชื่อมโยงกับทักษะชีวิต ซึ่งในโรงเรียนหลายแห่งมีพื้นที่การเกษตร ก็จะได้ทำในส่วนนี้อยู่แล้ว คุณครูสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับการสอนได้ เช่น คุณครูอาจจะนำสถานการณ์โควิด 19 เข้ามาเชื่อมโยงให้เด็กเขียนเรียงความ หรือเล่าเรื่องราวว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างไร เด็กได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปกลุ่มสาระวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา เป็นต้น
ในเรื่องของวัคซีน เนื่องจากคุณครูเป็นบุคลากรที่สำคัญและมีความใกล้ชิดกับนักเรียน ที่ผ่านมาผู้บริหาร ศธ.ได้มีการพูดคุยกันตลอด และได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีให้ทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้การฉีดวัคซีนกับครู เป็นเรื่องสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ แต่เนื่องจากจำนวนวัคซีนที่คลาดเคลื่อนจากกำหนด ศธ.จึงได้มีการปรับแผนเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเร่งฉีดในพื้นที่สีแดงเข้มก่อน แล้วจึงทยอยฉีดต่อไปจนครบทุกพื้นที่
ส่วนเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษา ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของครูและนักเรียน แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในสถานการณ์โควิด 19 จึงจะเน้นในเรื่องความปลอดภัยทางด้านนี้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยดำเนินการตามมาตรการของ ศบค.อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะโรงเรียนที่จะต้องเปิดเรียนแบบ On Site ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตพื้นที่ ได้กำชับกับทางโรงเรียนให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัดด้วย สิ่งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองได้ เช่นเดียวกับเรื่องของการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ในสถานการณ์เช่นนี้ ศธ.มีความเข้าใจ และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครอง
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากว่าเราจะยังคงต้องอยู่กับโควิด 19 ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดการเรียนรู้แบบต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทั้งคุณครู บุคลากร ผู้บริหารโรงเรียน รวมถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่องและอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นสิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความยืดหยุ่นตามบริบทและพื้นที่ ต้องไม่ตึงหรือเข้มงวดจนเกินไป เพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้แบบ New Normal โดยไม่เครียดจนเกินไป
ขอให้แต่ละเขตฯ พิจารณาให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ เด็กต้องมีความสุข เพราะหากเด็กไม่มีความสุข ก็ถือว่ายังไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
ในช่วงเวลานี้ เราจึงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร เพราะทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาต่อไปได้ เด็กคืออนาคตของชาติ หากเราขาดความร่วมมือร่วมใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ เราก็คงไม่อาจก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกันได้ ในส่วนนี้ ศธ.พยายามจะช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ทำได้ หากมีประเด็นอะไรที่ต้องการจะทำ หรือไม่เข้าใจแนวคิดในด้านใด ทางกระทรวงยินดีที่จะช่วยกันสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันต่อไปได้
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้ชี้แจงในประเด็นการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตัวชี้วัดและเป้าหมายการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นโยบายเร่งด่วนการจัดการศึกษา และการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพชุมชน นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงเรื่องการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ชุดสื่อ 60 และ 65 พรรษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการโรงเรียนร่วมทดลองการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ โครงการทดลองเรียนภาษาต่างประเทศโดยใช้รูปแบบการสื่อสารสองทางจากครูชาวต่างชาติและครูไทยที่มีวิธีการสอนที่เป็นเลิศ ระดับมัธยมศึกษา โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ทิศทางการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
รวมถึงแนวปฏิบัติการนับเวลาเรียน การสอนชดเชย การจัดทำเอกสารหลักฐานการศึกษา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และการพัฒนาสมรรถนะการอ่านขั้นสูง ตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออก เขียนได้ทุกคน” เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงเรื่องการเปิดภาคเรียน การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การรายงานการตรวจสอบข่าวปลอม และระบบ e-Saraban ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงเรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 การรายงานข้อมูลจำนวนนักเรียนประจำพักนอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
รวมถึงโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง สร้างความเข้าใจและชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการโครงการโรงเรียนขนาดเล็ก การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ITA Online ปี 2564) และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงเรื่องการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา และการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2564
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :