รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
วัคซีนชนิดรับประทานของสองบริษัทในสหรัฐอเมริกา อยู่ในระหว่างวิจัยพัฒนา
หลังจากที่มีวัคซีนป้องกันโควิดชนิดฉีด ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน(EUA) นับ 10 ชนิดแล้วนั้น ก็มีวัคซีนชนิดสูดดมของประเทศจีนบริษัท CanSinoBio ที่กำลังจะขออนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในประเทศจีน แต่ในขณะเดียวกัน วัคซีนชนิดรับประทานที่ทำเป็นเม็ดหรือแคปซูล ก็ได้มีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนาในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
Oramed Phamaceuticals Inc. ได้จัดตั้งบริษัทลูก ร่วมกับบริษัท Premas Biotech ของอินเดีย ทำการวิจัยวัคซีนชนิดรับประทาน โดยได้มีการทดลองในสัตว์ทดลอง(Preclinical trial) เรียบร้อยแล้ว พบว่ากระตุ้นภูมิต้านทานทั้ง IgG และ IgA ได้ดี โดยเป็นลักษณะ VLP (Virus like Particle)
ส่วนวัคซีนชนิดรับประทานอีกชนิดหนึ่งเป็นของ Vaxart’s ซึ่งก็ได้มีการพัฒนาจนพบว่า มีการกระตุ้นภูมิต้านทานต่อโควิด ในกลุ่มของ T-cell เป็นอย่างมาก
ข้อดีของวัคซีนชนิดรับประทานทั้งสองบริษัทประกอบด้วย
1.ขนส่งง่าย เก็บสะดวก เพราะไม่จำเป็นต้องแช่ตู้เย็น
2.ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ทุกคนสามารถรับประทานเองที่บ้านได้
3.มีประโยชน์มากสำหรับคนที่กลัวเข็ม ซึ่งพบว่ามีคนที่กลัวอย่างรุนแรงถึง 10% หรือหนึ่งใน 10 ของประชากรทั่วไป
ก็คงจะต้องติดตามการวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดรับประทาน พร้อมกับติดตามวัคซีนชนิดสูดดม ซึ่งจะเป็นตัวเสริมวัคซีนชนิดฉีดซึ่งเป็นมาตรฐานหลักอยู่แล้วกันต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนชนิดสูดดมนั้น "หมอเฉลิมชัย" ได้เคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ทำหน้าที่นำไปเผยแพร่ต่อ โดยระบุว่า บริษัท CanSinoBio ของจีน ได้ยื่นขอจดทะเบียนวัคซีนชนิดสูดดมตัวแรกของประเทศจีนแล้ว เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
วัคซีนนี้จะใช้วิธีการพ่นเป็นฝอยละออง (Nebulized Inhalation) เหมือนกับการพ่นยาขยายหลอดลมให้กับผู้ป่วยโรคหอบหืด (Asthma) วัคซีนดังกล่าว ซึ่งใช้ปริมาณเพียงหนึ่งในห้าของวัคซีนชนิดฉีด เป็นฝอยละอองขนาดเล็ก จะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานตลอดเยื่อบุของทางเดินหายใจ (Mucosal immunity) เพื่อป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ไวรัสสามารถบุกเข้าไปในร่างกายได้
เป็นการวิจัยเฟสสอง ซึ่งโดยปกติจะต้องวิจัยเฟสสามต่อไป แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะมีวัคซีนหลายชนิด ได้รับการจดทะเบียนให้ใช้ในระหว่างการวิจัยพัฒนาเฟสสามไปด้วย (EUA : Emergency Use Authorization)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :