ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเป็นห่วงโครงการ
'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' ที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยระบุว่า ไทยยังฉีดวัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของประชากร หากจะทำให้ลดการแพร่ระบาดและลดอัตราการเสียชีวิตได้ ต้องฉีดวัคซีนเกินร้อยละ 50 จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ประเทศไทย ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากและเร็ว พร้อมย้ำว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ส่วนแผนการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ วันที่ 1 ก.ค. นี้ มองว่า เร็วเกินไปและควรต้องกักตัว 14 วัน เพราะหากเกิดการระบาด โดยเฉพาะสายพันธุ์กลายพันธุ์ ที่เข้ามากับผู้เดินทาง อาจมีผลต่อวัคซีน ซึ่งวัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ถ้ามองว่าทุกคนฉีดวัคซีนครบแล้วปล่อยได้ อันนี้น่ากลัว
ถ้าเกิดการระบาดใหม่ในภูเก็ต เชื่อว่า จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเฝ้าดูถึงระบบความเข้มงวดในการป้องกันโดยเฉพาะคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาทำงาน ขอให้ระวังสิ่งเหล่านี้ให้ดี จะเฝ้าติดตามดู ยกตัวอย่าง ประเทศอังกฤษ ที่มีการเปิดประเทศพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และพบ เชื้อกลายพันธุ์ แทบจะทุกสายพันธุ์
นอกจากนี้ โดยปกติการเดินทางเข้ามาประเทศไทยต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่หากมองว่าต้องการให้เป็นพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจ อาจมีการปรับให้ไม่ต้องถึง 14 วัน หากเป็นเช่นนั้นถ้าเป็นบางสายพันธุ์ที่ 14 วันก็อาจไม่พอ อย่างจีนก็กำหนด 21 วันด้วยซ้ำ
คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถ้าไม่ลองไม่รู้ แต่ถ้าลองแล้วเกิดบทเรียนก็ขอให้เป็นบทเรียน แต่ก็ยังห่วง แน่นอนในแง่วิชาการทางแพทย์ อยากให้กักตัว 14 วัน แต่หากในมองเศรษฐกิจก็จะมองว่านักท่องเที่ยวคงไม่มา
ขณะที่การออกมาตรการคลายล็อกต้องคู่ขนานกับจำนวนวัคซีนที่ฉีด แต่พื้นที่ไหนยังพบการติดเชื้อสูงไม่ควรผ่อนคลาย ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจผ่อนคลายได้ แต่ต้องเข้มงวดมาตรการสาธารณสุข
ข่าวเกี่ยวข้อง: