รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า
วัคซีน DNA ตัวแรกของโลก เป็นวัคซีนโควิดของบริษัท Zydus Cadila ประเทศอินเดีย ถ้าได้รับการอนุมัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะไม่ต้องใช้วิธีการฉีดอีกด้วย
มีรายงานข่าวจากบริษัท Zydus Cadila ของอินเดีย ซึ่งได้เร่งทำการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด โดยใช้เทคโนโลยี DNA-plasmid ได้เริ่มทำการวิจัยเฟสหนึ่งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เฟสสอง เริ่มในเดือนสิงหาคม และเสร็จสมบูรณ์เดือนธันวาคม 2563 และได้เริ่มทดลองเฟสสาม ตั้งแต่มกราคม 2564 ในอาสาสมัครจำนวน 30,000 คน กำลังจะเสร็จสิ้นการวิจัยเฟสสามในหนึ่งสัปดาห์นี้
ทางบริษัทจะยื่นขออนุมัติใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) ต่อองค์กรควบคุมวัคซีนของอินเดียในสัปดาห์หน้า
วัคซีนนี้ เป็นเทคโนโลยี DNA ซึ่งมีบริษัท Inovio ของสหรัฐอเมริกาที่ทำการวิจัยตามมาติดๆ อยู่ในเฟสสอง
จุดเด่นของวัคซีนนี้คือ
1.จะสามารถฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป
2.สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้ถึงสามเดือน ถ้าเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นานนับปี
3.ไม่จำเป็นจะต้องใช้เข็มฉีดยา (Needle Free Injection Syst : NFIS)แต่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้ความเร็วสูงผลักวัคซีนขนาดเล็กเข้าสู่ผิวหนังโดยตรง จะทำให้เด็กหรือคนที่กลัวเข็มฉีดยายอมรับการใช้วัคซีนชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น
วัคซีนนี้เป็นลำดับที่สี่ ที่จะได้รับการจดทะเบียนในอินเดีย ตามหลัง
1.วัคซีน Covaxin ของบริษัท Bharat ซึ่งเป็นชนิดเชื้อตาย
2.วัคซีน Covishield ของ SII ซึ่งเป็นชนิดไวรัสเป็นพาหะ
3.วัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย ซึ่งเป็นชนิดไวรัสเป็นพาหะเช่นกัน
กำลังการผลิตจะอยู่ที่ปีละ 120 ล้านเข็ม สามารถขยายเป็น 200 ล้านเข็มได้ด้วย
วัคซีนนี้ก็จะเป็นเทคโนโลยีเด่น เป็นลำดับที่ 5 ถัดจาก
1.mRNA
2.Inactivated
3.Protein based
4.Viral vector
แต่จะเป็นลำดับแรกของโลกในเทคโนโลยี DNA-plasmid
สำหรับวิธีการนำวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) เข้าสู่ร่างกายในปัจจุบันนั้น นอกจากวิธีการฉีดด้วยเข็มฉีดยาตามรูปแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีด้วยกันอีกหลากหลายวิธีที่กำลังอยู่ในขั้นของการวิจัยและทดลองประสิทธิภาพ
"ฐานเศษฐกิจ" จึงได้รวบรวมข้อมูลให้เห็นว่า โลกยุคใหม่ได้มีการพัฒนานวัตกรรมไปแล้วขนาดไหน
1.วัคซีนชนิดสูดดม โดยปัจจุบันบริษัท CanSinoBio ของจีน ได้ยื่นขอจดทะเบียนวัคซีนชนิดสูดดมตัวแรกของประเทศจีนแล้ว เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
วัคซีนนี้จะใช้วิธีการพ่นเป็นฝอยละออง (Nebulized Inhalation) เหมือนกับการพ่นยาขยายหลอดลมให้กับผู้ป่วยโรคหอบหืด (Asthma) วัคซีนดังกล่าว ซึ่งใช้ปริมาณเพียงหนึ่งในห้าของวัคซีนชนิดฉีด เป็นฝอยละอองขนาดเล็ก จะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานตลอดเยื่อบุของทางเดินหายใจ (Mucosal immunity) เพื่อป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ไวรัสสามารถบุกเข้าไปในร่างกายได้
ปัจจุบันเป็นการวิจัยเฟสสอง ซึ่งโดยปกติจะต้องวิจัยเฟสสามต่อไป แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะมีวัคซีนหลายชนิด ได้รับการจดทะเบียนให้ใช้ในระหว่างการวิจัยพัฒนาเฟสสามไปด้วย (EUA : Emergency Use Authorization)
นอกจากนี้ บริษัทแอสตร้าเซเนก้า และบริษัทในอินเดียก็กำลังทำการศึกษาวัคซีนชนิดสูดเข้าปอดเช่นกัน
2.วัคซีนชนิดรับประทาน
วัคซีนชนิดรับประทานที่ทำเป็นเม็ดหรือแคปซูล ก็ได้มีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนาในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
Oramed Phamaceuticals Inc. ได้จัดตั้งบริษัทลูก ร่วมกับบริษัท Premas Biotech ของอินเดีย ทำการวิจัยวัคซีนชนิดรับประทาน โดยได้มีการทดลองในสัตว์ทดลอง(Preclinical trial) เรียบร้อยแล้ว พบว่ากระตุ้นภูมิต้านทานทั้ง IgG และ IgA ได้ดี โดยเป็นลักษณะ VLP (Virus like Particle)
ส่วนวัคซีนชนิดรับประทานอีกชนิดหนึ่งเป็นของ Vaxart’s ซึ่งก็ได้มีการพัฒนาจนพบว่า มีการกระตุ้นภูมิต้านทานต่อโควิด ในกลุ่มของ T-cell เป็นอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :