เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการนำขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศไทย คพ.ขอชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนทราบว่า “ขยะพลาสติก”และ “เศษพลาสติก” มีความแตกต่างกัน ตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ความหมายของ “ขยะพลาสติก” และ “เศษพลาสติก” พ.ศ. 2564 โดยที่ “ขยะพลาสติก” หมายถึง ชิ้นงาน หรือ ชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้งานแล้วหรือไม่ก็ตาม จนถูกนำไปทิ้ง หรือ ไม่เป็นที่ต้องการใช้อีกต่อไป หรือ เสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้ หรือ มีการปนเปื้อนกับขยะอื่นหรือวัสดุประเภทอื่น
ในขณะที่ “เศษพลาสติก” หมายถึง เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติกไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่ก็ตาม ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร การนำเข้าพลาสติกที่ผ่านมา เป็นการนำเข้า “เศษพลาสติก” เพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ใช่การนำเข้า “ขยะพลาสติก”โดยในปี 2563 มีการนำเข้าเศษพลาสติก ในปริมาณ 150,807 ตัน และในระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2564 มีการนำเข้าเศษพลาสติก ในปริมาณ 44,307 ตัน ซึ่งเป็นช่วงการปรับตัวเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากเกินไป และจะทยอยปรับลดการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อนำไปสู่ “การห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 100%
ภายในระยะเวลา 5 ปี” พร้อมกันนี้ ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อรองรับกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติกภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมได้มากยิ่งขึ้น
นายอรรถพล ยังกล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เน้นย้ำชัดเจนว่า ทส. มีนโยบายส่งเสริมการใช้เศษพลาสติกในประเทศให้มากที่สุด โดยจะมีการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ 100 % ภายในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า และรัฐบาลไม่เคยมีนโยบายให้นำเข้าขยะพลาสติก หากมีการนำเข้าแสดงว่าเป็นการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ได้มอบหมายกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งผลักดันตู้สินค้านั้นกลับประเทศต้นทางโดยทันที
นายอรรถพล ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยได้ห้ามนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จำนวน 428 รายการ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นมา หากมีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยจะมีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้ ทส.กำลังเร่งผลักดันการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์