นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ร่วมกับนายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารและผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจกลางคืน และนางสาวญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร ร่วมกันยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ออกมาตรการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายที่ผ่านมา (17 มิ.ย. 2564) ตัวแทนจากชมรมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารและผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจกลางคืน และชมรมหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร
ได้เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับ และนำเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการผลักดันให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาได้ ณ จุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ อาคารรัฐสภา
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหมดได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องทนแบกรับจากการถูกศบค. สั่งปิดมานานเดือนเศษและคาดว่าจะยาวจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะผ่อนปรนให้ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ ส่งผลให้ร้านอาหารที่เป็นธุรกิจ SME ทยอยปิดกิจการไปนับแสนร้าน
ดังนั้นจึงอยากให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคธุรกิจร้านอาหารเป็นการด่วน พร้อมอนุมัติให้ร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจได้ตามปกติในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 นี้ สอดคล้องกับผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาและมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับสาระสำคัญในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เป็นการนำเสนอปัญหาที่ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับ และนำเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการผลักดันให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาได้ ผ่าน 5 มาตรการ คือ
1. นโยบายด้านการเงิน ให้แบงค์ชาติและกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้รีบปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยลดข้อกำหนด เงื่อนไขบางข้อลง เช่น พักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ธุรกิจร้านอาหารที่อยู่ในระบบภาษีทั้งหมดโดยทันทีตั้งแต่เดือนนี้จนถึงสิ้นเดือนธ.ค.2564 เพื่อประคองให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถเก็บกระแสเงินสดไว้ได้บ้าง , สามารถให้กู้เพิ่มได้อีก 50% ของวงเงินหนี้เดิม เป็นต้น
2. นโยบายมาตรการทางด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น มีคำสั่งให้การไฟฟ้าลด 30% จากยอดการใช้โดยทันทีในยอดบิลของเดือนมิ.ย. – ต.ค. 2564 เพื่อประคองลดต้นทุนอย่างน้อย 3-5% ให้ผู้ประกอบการสามารถลุกขึ้นมาประกอบกิจการได้อย่างมั่นคงก่อน
3.นโยบายมาตรการฟื้นฟูทางด้านภาคแรงงาน จากเดิมที่กระทรวงแรงงานได้มีคำสั่งให้ประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยค่าแรงให้กับพนักงาน ลูกจ้างใน ม.33 ครึ่งหนึ่ง เป็นจำนวน 90 วัน ตั้งแต่เดือนพ.ค. – ก.ค. 2564 นั้น แต่ยังติดเงื่อนไข คำสั่งของ ศบค.อยู่ที่อนุญาตให้ร้านอาหารเปิดให้นั่งได้ไม่เกิน 25% ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2564 เป็นต้นมานั้น
ทำให้ประกันสังคมไม่ยอมจ่ายให้กับพนักงาน ทั้งๆ ที่เป็นการดำเนินธุรกิจแบบไม่ปกติ เพราะคำสั่งของ ศบค. ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาแรงงานให้ยังคงอยู่ในระบบไม่ต้องตกงาน จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีช่วยปลดล็อก เงื่อนไขนี้ โดยให้ลูกจ้างสามารถเบิกค่าแรง 50% ได้เลยจนถึงเดือนต.ค. 2564 เพื่อจะได้รักษาแรงงานให้ยังอยู่ในระบบโดยร้านอาหารไม่ต้องปลดหรือลดจำนวนพนักงานลง
4.นโยบายมาตรการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและพนักงานร้านอาหารเอง คือ ขออนุมัติโคตาวัคซีนให้กับคนที่มีอาชีพ เกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารสามารถไปฉีดวัคซีนโควิดได้ทันที ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 นี้ ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีรถไฟบางซื่อ และเมื่อพนักงานร้านอาหารมีความปลอดภัย และมีความเสี่ยงน้อยลง ความมั่นใจในภาคธุรกิจร้านอาหารจะกลับมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยในเวลาเดียวกัน
5.นโยบายเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจควบคู่กับสาธารณสุขโดยพิจารณาอนุมัติให้ร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติเหมือนก่อนสั่งปิด ภายในวันที่ 25 มิ.ย. 2564 นี้ โดยให้ใช้กฎกติกาการคลายล็อคของสาธารณะสุข และ SHA ตามแบบในการระบาดรอบที่ 1
ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาค Mini SMEs ที่อยู่ในระบบภาษีได้ โดยรวมทั้งในห่วงโซ่ซัพพลายเชนเป็นทั้งระบบและยังสามารถทำให้ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กที่เป็น Micro SMEs สามารถได้รับการตอบสนองโครงการต่าง ๆ ที่รัฐได้ออกมา เช่น โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ, โครงการม.33 ด้วย
“อยากให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของภาคเศรษฐกิจเหมือนกับความสำคัญทางสาธารณะสุข เพราะประเทศจะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ และจะเกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีกมากมาย ทั้งด้านภาคแรงงานที่ต้องตกงาน หรือธุรกิจ SMEs ที่ต้องล้มตายกันอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวัคซีนใดมารักษาได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :