"วัคซีนโควิด" หมอยงไขปมทำไมบางประเทศรับรอง-ไม่รับรองวัคซีนบางชนิด

18 มิ.ย. 2564 | 00:55 น.

หมอยงไขข้อสงสัยทำไมบางประเทศให้การรับรองและไม่รับรองวัคซีนโควิด-19 บางชนิด ระบุมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
    โควิด-19 วัคซีน เหตุผลอะไร ที่บางประเทศรับรองวัคซีนบางตัว แต่ยังไม่รับรองบางตัว
    ยง ภู่วรวรรณ
    เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก มีเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน วัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง โดยมีกฎเกณฑ์ว่าต้องสามารถป้องกันลดความรุนแรงของโรคลงได้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
ปัจจุบันนี้มีวัคซีนมากกว่า 13 ชนิดที่ผ่านระยะที่ 3 และใช้ในมนุษย์ ในภาวะฉุกเฉิน มีวัคซีนหลายตัวหรือเรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง ที่องค์การอนามัยโลกรับรอง เช่น  Pfizer, Moderna, Johnson & Johnson, AstraZeneca, Sinovac, Sinopharm และมีอีกหลายตัวที่องค์การอนามัยโลกยังอยู่ระหว่างการพิจารณารับรอง แต่ได้มีการใช้อย่างกว้างขวางเป็นจำนวนมาก โดยมากจะผ่านการศึกษาในระยะที่ 3 แล้ว และมีการรับรอง ให้ใช้ในหลายประเทศ เหตุผลที่กล่าวว่าบางประเทศไม่รับรอง อาจจะเป็นไปได้ว่าบริษัทวัคซีนนั้นไม่ได้ไปขอขึ้นทะเบียนกับประเทศนั้นๆ บริษัทจะขึ้นทะเบียนกับประเทศที่ต้องการใช้ 
    ขณะเดียวกัน ก็คงมีเรื่องของทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งในอเมริกา มีวัคซีนที่องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริการับรองให้ใช้ในประเทศมีเพียง 3 ตัวเท่านั้นคือของ Pfizer, Moderna และ J&J ทั้งนี้เป็นประเทศผู้ผลิตเอง และมีจำนวนวัคซีนจำนวนมากเพียงพอที่จะใช้ในประเทศ ไม่มีความจำเป็นที่จะพึ่งพาวัคซีนตัวอื่นจากต่างประเทศ วัคซีน Novavax ที่ผลิตในประเทศอเมริกาเองก็กำลังรอขึ้นทะเบียนอยู่ ส่วนวัคซีน AstraZeneca นั้นองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้รับรอง เพราะถือว่าวัคซีนที่มีอยู่เพียงพอแล้ว 
    ในทำนองกลับกันประเทศจีนเอง ก็มีวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนใช้อย่างเพียงพอ และได้ฉีดไปแล้วมากกว่า 800 ล้านโด๊ส จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยวัคซีนทางตะวันตก เช่นเดียวกับประเทศรัสเซีย 
    สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่ผลิตในประเทศไทย และความต้องการใช้ของวัคซีนมีมาก เราจึงต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจีน วัคซีนยุโรป เช่น AZ และวัคซีนอเมริกา ต่อไปแม้กระทั่งวัคซีนอินเดีย ถ้าจะมาขึ้นทะเบียนในประเทศไทย เราก็จะต้องพิจารณาโดยคณะกรรมการอาหารและยา

ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ  
    ขณะนี้วัคซีน Pfizer ก็ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศไทย เพราะทางบริษัทยังไม่ได้ขอมาขึ้นทะเบียน ดังนั้นเราจะเห็นว่าวัคซีนบางตัวรับรองการใช้ในประเทศหนึ่งและอาจจะยังไม่รับรองในประเทศ จึงมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ดังได้กล่าวมาแล้ว
    #หมอยง
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินพบว่ามีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด ประกอบด้วย 
    วันที่ 20 ม.ค.2564
    วัคซีน COVID-19 แอสตราเซเนกา (Vaccine AstraZeneca) นำเข้าโดยบริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
    22 ก.พ.2564
    วัคซีน COVID-19 ซิโนแวค (Sinovac) หรือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) นำเข้าโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.)
    25 มี.ค.2564
    วัคซีน COVID-19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) หรือ COVID-19 Vaccine Janssen นำเข้าโดย บริษัท แจนเซ่น - ซีแลก จำกัด
    13 พ.ค.2564
    วัคซีน COVID-19 โมเดอร์นา (Vaccine Moderna) นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด
    28 พ.ค.2564
    วัคซีน COVID-19 ซิโนฟาร์ม (​Sinopharm) หรือ Vaccine (Vero Cell), Inactivated COVILO (BIBP) นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
    ส่วนวัคซีนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง มี 2 ตัว คือ วัคซีน Sputnik V นำเข้าโดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด และวัคซีน Covaxin นำเข้าโดยบริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :