รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 18 มิถุนายน 2564...ทะลุ 178 ล้านคนแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 368,901 คน รวมแล้วตอนนี้ 178,168,322 คน ตายเพิ่มอีก 7,959 คน ยอดตายรวม 3,856,864 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ บราซิล อินเดีย โคลอมเบีย อาร์เจนติน่า และรัสเซีย
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 9,769 คน รวม 34,375,754 คน ตายเพิ่ม 276 คน ยอดเสียชีวิตรวม 616,422 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 62,409 คน รวม 29,761,964 คน ตายเพิ่ม 1,310 คน ยอดเสียชีวิตรวม 383,521 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 72,916 คน รวม 17,702,630 คน ตายเพิ่มถึง 2,167 คน ยอดเสียชีวิตรวม 496,004 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 2,044 คน ยอดรวม 5,749,691 คน ตายเพิ่ม 56 คน ยอดเสียชีวิตรวม 110,634 คน อัตราตาย 1.9%
ตุรกี ติดเพิ่ม 5,904 คน รวม 5,354,153 คน ตายเพิ่ม 62 คน ยอดเสียชีวิตรวม 49,012 คน อัตราตาย 0.9%
อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี อาร์เจนติน่า และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี โบลิเวีย แอฟริกาใต้ แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา เนปาล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพัน
แซมเบียกำลังเจอระลอกสาม ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วมาก ล่าสุดพอๆ กับไทย ราวสามพันต่อวัน มากกว่าระลอกแรกราว 7 เท่า
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นยูเครน คาซักสถาน และมองโกเลียที่ยังหลักพัน
ตอนนี้การระบาดของมองโกเลีย ระลอกสองเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวานติดเพิ่มอีกถึง 2,642 คน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านที่เกินหมื่น
เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ลาว และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
น่าจับตามองด้วยความเป็นห่วง สหราชอาณาจักรตอนนี้ แม้จะฉีดวัคซีนไปมากแล้ว แต่ตอนนี้กำลังเจอการระบาดซ้ำชัดเจน ล่าสุดติดเพิ่มถึง 11,007 คน ตายเพิ่มอีก 19 คน ทั้งนี้เป็นการติดเชื้อเกินหมื่นคนต่อวันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา
เน้นย้ำตัวอย่างของสหราชอาณาจักรให้เห็นชัดๆ เพราะเค้าเคยระบาดหนักตั้งแต่ปลายปีก่อน และเคยไปพีคสูงสุดกว่า 67,000 คนต่อวันในช่วงต้นมกราคม 2564 มาตรการที่ทำให้เค้าควบคุมการระบาดได้คือ "ล็อคดาวน์" เพื่อตัดวงจรการระบาด สหราชอาณาจักรตัดสินใจล็อคดาวน์ยาวนาน แม้แต่เดิมเคยพยายามหลีกเลี่ยงเพราะกลัวผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่สุดท้ายต้องยอมรับว่ายามที่ระบาดหนัก กระจายทั่ว ย่อมไม่มีทางเลือกอื่น ระหว่างล็อคดาวน์ เค้าพยายามฉีดวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมประชากรให้มาก และในระยะเวลาต่อมาพอควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงเมษายน 2564 จึงมีการวางแผนผ่อนคลายมาตรการใช้ชีวิต และจะปลดล็อคดาวน์ปลายเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม พอพบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า จำนวนการติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรตัดสินใจชะลอการผ่อนคลายมาตรการไปดังที่เราทราบข่าวกัน
แน่นอนว่า หากใส่ใจสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต การตัดสินใจเชิงนโยบายจึงต้องเน้นการรักษาชีวิตจากโรคระบาด เพราะทราบดีว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นต่อทั้งชีวิต และเศรษฐกิจสังคมอย่างมากมาย
ไทยเราก็เช่นกัน หากเร่งรีบเปิดประเทศ โดยที่ระบาดในประเทศยังกระจายไปทั่ว ระบบตรวจคัดกรองศักยภาพจำกัด วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงยังไม่เพียงพอหรือไม่ครอบคลุม ขืนฝืนเปิดประเทศไป ระบาดซ้ำ จะเสียหายอย่างมหาศาลและยาวนานจนยากจะฟื้นฟู...ดังนั้นจึงควรทบทวน ใคร่ครวญให้ดี
อัพเดตข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก 15 มิถุนายน 2564 มีสายพันธุ์กลายพันธุ์หลายตัวดังภาพ
กลุ่มแรกเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of concern: VOC) เพราะมีหลายตัวที่มีโอกาสระบาดหนัก แพร่ไว ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ ยังคงมี 4 ตัวเช่นเดิมคือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า
กลุ่มสองเป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่จับตามอง (Variants of interest: VOI) เพราะมีอัตราการตรวจพบเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาลักษณะการระบาดของไวรัสเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ล่าสุดมีตัวใหม่คือ แลมด้า พบมากในทวีปอเมริกาใต้หลายต่อหลายประเทศ
ไทยเรานั้น จากที่รายงานมา เราพบ VOC อย่างครบถ้วนทุกตัว ที่น่ากังวลคือต้องระวังสายพันธุ์เดลต้า หรือที่ทราบกันว่าเป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย เพราะมีจำนวนเคสที่พบในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ แพร่ไวกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าซึ่งตอนนี้เป็นสายพันธุ์หลักถึง 40%
รายงานจากทีมวิจัยในสหราชอาณาจักร พบว่าสายพันธุ์นี้อาจทำให้พบอาการป่วยที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม โดยพบว่ามีอาการเด่นที่พบบ่อยคือ ปวดหัว น้ำมูกไหล เจ็บคอ และจาม
ดังนั้นหากประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในไทยเราจะระมัดระวัง อาจช่วยกันดูอาการต่างๆ เหล่านี้ด้วย เพราะมันจะเหมือนกับไข้หวัด จนบางทีเราอาจประมาทคิดว่าไม่เป็นไร คงไปตากฝนโดนฝนมา โดยไม่สงสัยว่าอาจเป็นโควิด-19 และอาจนำพาเชื้อไปแพร่ที่บ้าน ที่ทำงานได้ง่ายขึ้น
โควิด-19 ไม่ใช่แค่หวัดธรรมดา...
ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เจอคนน้อยๆ ใช้เวลาสั้นๆ อยู่ห่างมากๆ หากไม่สบาย ให้แยกจากคนในบ้าน แล้วรีบไปตรวจรักษา และหากไม่สบาย ควรรับผิดชอบต่อสังคม ลาหยุดงาน แล้วไปตรวจรักษา
ด้วยรักและห่วงใย
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 18 มิถุนายน 64 พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 3,058 ราย
สะสมระลอกที่สาม 181,919 ราย
สะสมทั้งหมด 210,782 ราย
หายป่วยกลับบ้าน 4,094 ราย
สะสม 148,984 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,483 ราย
สะสมทั้งหมด 1,577 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :