'ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนพนักงานต้องทำด้วยความสุข มีโอกาสเติบโตทางรายได้และหน้าที่การงานที่ดี'
“แพททริก ปูเลีย” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บอกว่า สิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ยึดถือเป็นหัวใจสำคัญของการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ คือการดูแลลูกค้าและพนักงานไปพร้อมๆ กัน โดยการบาลานซ์ระหว่างธุรกิจและความปลอดภัยของบุคลากรอย่างเหมาะสม
ในแง่ของธุรกิจ แน่นอนว่าทุกอย่างต้องเดินหน้า และสามารถรักษาศักยภาพการแข่งขันในตลาดการเงินที่ร้อนแรงให้ได้ด้วยการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อดันมาร์เก็ตแชร์ให้เพิ่มขึ้น และสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นความโชคดีที่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ไทยพาณิชย์ได้ทำ Digital Transformation องค์กรมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บุคลากรมีความพร้อมกับการทำงานแบบ New Normal ที่ต้องทำงานที่บ้าน (Work from home : WFH) ตามนโยบายลดความเสี่ยงของธนาคาร และยังสามารถให้บริการด้านธุรกรรมผ่านออนไลน์กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากเวลาปกติ
การทำงานที่ราบรื่น เกิดจากความ “เข้าใจ” ที่ผู้นำองค์กรเล็งเห็นว่า จะต้องไม่มองแค่มุมธุรกิจ แต่ต้องใส่ใจ “คน” หรือบุคลากร ต้องดูแลพนักงานทุกส่วนทั้งร่างกายและจิตใจ ให้พนักงานรู้สึกว่า “ไม่ถูกทิ้ง” ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อพนักงานมีสุขภาพกายและใจที่ดี จะทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
“สิ่งสำคัญคือ ต้องบาลานซ์ให้ดีภายใต้วิกฤติ ระหว่างความปลอดภัย และการดำรงความสามารถในการแข่งขัน”ท่ามกลางตลาดเงิน-ตลาดทุนที่มีความผันผวนสูง และคาดการณ์ได้ยาก ดังนั้นการเข้าไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าให้มากที่สุดถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
“แพททริก” บอกอีกว่า เป้าหมายธุรกิจของไทยพาณิชย์ไม่ได้เปลี่ยน แต่ต้องสร้างรายได้เพิ่ม ด้วยการหา New Ocean และ Blue Ocean เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในองค์กร
ฝั่งของ “ธุรกิจไฟแนนซ์” แม้ตัวองค์กรจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะประเทศไม่มีล็อกดาวน์ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยยังค้าขายได้ดี แต่กระนั้น “วิรัตน์ ชินประพินพร” ประธานกรรมการ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI ก็ยังต้องใส่ใจกับ “บุคลากร” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบริษัท
THANI ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการดูแลพนักงาน ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนพนักงานต้องทำด้วยความสุข มีโอกาสเติบโตทางรายได้และหน้าที่การงานที่ดี ในยุคโควิด -19 ที่พนักงานต้องทำงานที่บ้าน บริษัทได้นำดิจิทัลเข้ามาผสมผสาน เพิ่มความคล่องตัว ทำให้การทำงานไม่สะดุด และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย
ขณะเดียวกัน ก็ต้องบริหารจัดการต้นทุนในองค์กร โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการ WFH ของพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คณะผู้บริหารเกิดแนวคิดการลดพื้นที่สำนักงาน เพื่อนำค่าเช่าที่ลดลงมาชดเชยเป็นค่าใช้จ่ายสวัสดิการอื่นๆ ให้กับพนักงาน เช่น ค่าน้ำค่าไฟที่บ้านซึ่งอาจเริ่มพิจารณาบางแผนกที่ทำได้ก่อน
ไม่เพียงแค่การดูแลพนักงาน “วิรัตน์” ยังให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า โดยการใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ยที่จูงใจ รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และยืดเวลาชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 90วันพร้อมแนะนำลดหนี้และเพิ่มสภาพคล่อง ช่วยลูกหนี้ดำเนินธุรกิจต่อ โดยไม่เป็นหนี้เสีย ซึ่งปัจจุบัน THANI คุมหนี้เสียได้ต่ำกว่า 4 %
THANI มีจุดแข็งในการปล่อยสินเชื่อและควบคุมคุณภาพหนี้ได้ดี และพร้อมทั้งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและการแข่งขันด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังใช้กลยุทธ์ขยายสินเชื่อด้วยดอกเบี้ยที่จูงใจ พร้อมกับมองช่องทางการขยายธุรกิจจากการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) รวมถึงศึกษารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เติบโตดี เช่นไมโครไฟแนนซ์และคอนซูมเมอร์ไฟแนนซ์ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 16 ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564