เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในแต่ละปีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูป เว็บไซต์ และอีมาร์เก็ตเพลส เช่น ชอปปี้, ลาซาด้า, เจดี เซ็นทรัล กว่า 18,000 รายการ
โดยพบว่า 60% เป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ทั้งการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต โฆษณาโอ้อวดเกินจริงในทางบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือเห็นผลเร็วทันใจ หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพลักลอบผลิตหรือนำเข้า ซึ่ง อย. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
นอกจากดำเนินมาตรการทางปกครองในการสั่งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย บูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อระงับเว็บไซต์ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องทางเฟคนิวส์ (Fake news) กองบังคับการปราบรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อสืบสวนหาผู้กระทำความผิด เป็นต้น
รวมทั้งดำเนินการเชิงรุก ทำความร่วมมือกับเครือข่ายแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊ก อินสตาแกรม และอีมาร์เก็ตเพลส ชอปปี้ ลาซาด้า และเจดี เซ็นทรัล เพื่อสกัดกั้นโฆษณาที่ผิดกฎหมายที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มดังกล่าวอีกด้วย
“แพลตฟอร์มจะกำหนดนโยบายและมาตรฐานชุมชนของแพลตฟอร์มที่จะไม่ยินยอมให้ร้านค้าออนไลน์มีการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงการจัดช่องทางอบรมให้ความรู้กับร้านค้าออนไลน์ในการเลือกผลิตภัณฑ์มาวางขายผ่านช่องทางแพลตฟอร์ม
มีช่องทางพิเศษในการประสานงานเพื่อปิดกั้นและระงับการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายผ่านทางแพลตฟอร์มโดยให้ความร่วมมือกับ อย. ในการจัดส่งข้อมูลผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายร่วมกัน เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ บัญชีธนาคารที่ใช้โอนเงิน เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ
นอกจากนี้ อย. ยังได้ร่วมพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) ของแพลตฟอร์มเพื่อปิดกั้นการขายยา วัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติด และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ รวมถึงการโฆษณาด้วย เนื้อหาภาพ เสียงและข้อความที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :