"ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม" องค์กรไทยยังไม่คืบ ระบุต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ทผู้นำด่วน

23 มิ.ย. 2564 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2564 | 04:03 น.

“PacRim” เผยผลสำรวจ ผู้เข้าร่วมสัมมนาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบการทำ "ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม" ยังล่าช้า ชี้ความท้าทายหลักอยู่ที่การปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ตของผู้นำ และวัฒนธรรมองค์กร มากกว่าโจทย์ด้านเทคโนโลยี

นางพรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ “PacRim” (www.pacrimgroup.com) บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและวัฒนธรรมองค์กร กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาสดออนไลน์ “Leadership Actions: From Digital Transformation to Organizational Transformation” จัดโดย “Human Capital Management Club” สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ร่วมกับ “PacRim” และ “AMPOS” ต่างเห็นพ้องกันว่าการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยมากกว่าหนึ่งในสาม (36%) โหวตให้ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม มีความสำคัญสูงสุดด้วยคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญในระดับ 8 และ 9 และที่เหลือมีเพียง 9% ที่ให้ความสำคัญในระดับ 7

เมื่อถามถึงความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม ส่วนใหญ่ หรือ 80%  ของผู้ทำแบบสอบถาม มองว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังมีขึ้นในอัตราความเร็วสูงสุด (ระดับ 9 และ 10)  

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันเมื่อถามถึงความเร็วของการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เกือบ 1 ใน 3 หรือ 29% ให้คะแนนตนเองแค่ในระดับ 5 และกว่าครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 56% ให้คะแนนความเร็วในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ภายในองค์กรของตนเองในระดับ 6-8  และที่เหลือประมาณ 15% ให้คะแนนในระดับ 2-4 เท่านั้น (ดูรายละเอียดผลการสำรวจในภาพกราฟฟิก)

\"ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม\" องค์กรไทยยังไม่คืบ ระบุต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ทผู้นำด่วน

เมื่อถามถึงความท้าทายสูงสุดในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (53%) ระบุว่าคือขีดความสามารถของผู้นำ (Leadership Capability) รองลงมาคือกลยุทธ์และทิศทางของธุรกิจ (49%) มายด์เซตและทัศนคติ (44%) ทักษะและขีดความสามารถของคนในองค์กร (33%) การเลือกเทคโนโลยี (27%) วัฒนธรรมองค์กร (27%)

ในส่วนของปัจจัยรองๆ ได้แก่ กระบวนการธุรกิจ (24%) ความพร้อมด้านข้อมูล (Data Readiness) (24%)  ขณะที่ “การลงมือปฏิบัติความริเริ่มด้านดิจิทัล” (Digital Initiative Implementation/Execution) รวมถึงงบประมาณและทรัพยากร ถูกมองว่ามีความท้าทายน้อยที่สุดด้วยระดับคะแนนเท่ากันที่ 11%

ผลการสำรวจนี้ชี้ชัดว่าองค์กรส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจากภายนอก โดยการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ของธุรกิจ ไม่ใช่เริ่มต้นที่เทคโนโลยีหรืออย่างอื่น

“เชื่อว่าเทคโนโลยีจะไม่ได้เข้ามาแทนในทุกเรื่อง แต่จะเข้ามาเอางานน่าเบื่อของคนไปทำ แล้วเราจะมีเวลาไปทำในสิ่งที่มีคุณค่าและท้าทายกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวผู้นำ ขีดความสามารถทักษะ กรอบความคิด และวัฒนธรรมองค์กรก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วย” นางพรทิพย์กล่าว

จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับลูกค้าในเรื่อง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่นเราพบว่า “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม กับ การทรานส์ฟอร์มองค์กร สองเรื่องนี้คือเรื่องเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงควรต้องทำไปด้วยกัน และส่วนที่ยากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนและวัฒนธรรมองค์กร”

นายบัญชา ธรรมารุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AMPOS Solutions (https://www.ampostech.com/) ผู้เชี่ยวชาญการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน กล่าวว่า กรอบการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน จะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 5  ด้านได้แก่ 1) ลูกค้า 2) เทคโนโลยี 3) ข้อมูล 4) กระบวนการ และ 5) คนและวัฒนธรรมองค์กร

การทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน จะต้องเริ่มจากการวางกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อสร้างความแตกต่าง ขีดความสามารถและนวัตกรรมที่เหนือกว่าคู่แข่ง โดยมี “Trigger Point” ที่ลูกค้าอันเป็นแก่นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

จากนั้นจึงเลือกเทคโนโลยี และนำเอาข้อมูลมาใช้ เพื่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจ ซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทำงานต่างๆ อาทิ การนำเอา CRM ซอฟต์แวร์มาใช้ จะบังคับทางอ้อมให้พนักงานขายต้องคีย์ข้อมูล เปลี่ยนจากการใช้ความรู้สึกมาเป็นการใช้ข้อมูลนำการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงกระบวนการหลังบ้านอื่นๆ ด้วย เช่น โลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มายด์เซ็ต และสไตล์การนำของผู้นำในองค์กร ให้สอดคล้องกับวิธีการทำงานแบบใหม่และโลกยุคใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง