"โควิดสายพันธุ์อินเดีย"จะเป็นไวรัสหลักของไทยใน 1-3 เดือน "หมอเฉลิมชัย" แนะร่นระยะฉีดวัคซีน

23 มิ.ย. 2564 | 10:40 น.

หมอเฉลิมชัยเผยโควิดสายพันธุ์อินเดียจะแพร่ระบาดไปทั่วโลก และประเทศไทยแทนสายพันธุ์อังกฤษ แนะร่นระยะฉีดวัคซีน AstraZeneca

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
    ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดียเดิม จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทดแทนสายพันธ์ุอัลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษเดิม
    นับจากเดือนธันวาคม 2562 ต่อเนื่องมาถึงปี 2563 ไวรัสที่ก่อโรคโควิดจะเป็นสายพันธุ์หลักเดิม ซึ่งระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน
ตลอดระยะเวลาดังกล่าว แม้ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ เพราะเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว แต่ก็เป็นการกลายพันธุ์ในส่วนรายละเอียดเล็กน้อย (Minor change) ไม่มีผลสำคัญกับการระบาดที่รุนแรง หรือการดื้อต่อวัคซีน
    ในตอนปลายปี 2563 ต่อต้นปี 2564 ไวรัสบางส่วนได้มีการกลายพันธุ์ในส่วนสำคัญ ทำให้เกิดเป็น 4 สายพันธุ์หลักที่น่ากังวล ( VOC : Variant of Concern) และอีกอย่างน้อย 7 สายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตามองหรือให้ความสนใจเป็นพิเศษ (VOI : Variant of Interest)
    ไวรัสสี่สายพันธุ์หลักได้แก่
    1. สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha ) หรืออังกฤษเดิม
    2. สายพันธุ์เบต้า (Beta) หรือแอฟริกาใต้เดิม
    3. สายพันธุ์แกมมา (Gamma) หรือบราซิลเดิม
    4. สายพันธุ์เดลต้า (Delta) หรืออินเดียเดิม
    และไวรัสกลายพันธุ์ที่ควรจับตามองหรือให้ความสนใจ ประกอบด้วย
    1.Epsilon ในสหรัฐอเมริกา
    2.Zetaในบราซิล
    3.Eta ในหลายประเทศ
    4.Theta ในฟิลิปปินส์
    5.Iota ในสหรัฐอเมริกา
    6.Kappa ในอินเดีย
    7.Lambda ในเปรู
    เมื่อมาถึงกลางปี 2564 ในบรรดาไวรัส 4 สายพันธุ์หลัก ที่เป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวล (VOC) นั้น จะพบความโดดเด่นในการแพร่ระบาดอยู่สองสายพันธุ์ได้แก่ สายพันธุ์อัลฟ่า และสายพันธุ์เดลต้า

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
    ส่วนสายพันธุ์เบต้า และแกมมานั้น การระบาดไม่ได้มีอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด เพียงแต่มีความรุนแรงและดื้อต่อวัคซีน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าและสายพันธุ์เดลต้า เป็นสองสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูง เมื่อการระบาด ไปเริ่มต้นที่ประเทศใดแล้ว สุดท้ายก็จะครอบคลุมกลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศนั้นไปในที่สุด
    โดยสามารถดูจากอัตราความสามารถในการแพร่ระบาด ดังนี้
    1.สายพันธุ์หลัก เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ให้ฐานการระบาดเท่ากับ 100 หน่วย
    2.สายพันธุ์อัลฟ่าของอังกฤษ มีความสามารถในการระบาด 170 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 70%
    3.สายพันธุ์เดลต้า มีความสามารถในการระบาดสูงมากขึ้น เพิ่มเป็น 240 หน่วย (เพิ่มขึ้น 60% จากสายพันธุ์อัลฟ่าที่มีการระบาดอยู่ที่ 170 หน่วย)
    จึงปรากฏเหตุการณ์เป็นลำดับว่า เมื่อเริ่มต้น จะพบสายพันธุ์อัลฟ่าเข้าไปทดแทนสายพันธุ์หลักเดิม ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แม้กระทั่งในประเทศไทย สายพันธุ์นี้ก็มาครอบคลุมทั้งหมดในการระบาดระลอกที่สาม ต่อมาสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีความสามารถสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า ก็ได้แพร่ระบาด  จนชนะและครอบคลุมสายพันธุ์อัลฟ่าเกือบทั้งหมด
    ในประเทศอังกฤษขณะนี้ มีสายพันธุ์เดลต้า 96% ส่วนของประเทศไทยก็เพิ่มจากไม่เคยมีสายพันธุ์เดลต้า มาเป็น 22% ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน 
    คาดว่าในอีก 1-3 เดือน ไทยน่าจะพบสายพันธุ์เดลต้า เป็นสายพันธุ์หลักของประเทศ แซงสายพันธุ์อัลฟ่า ซึ่งปัจจุบันลดลงไปเหลือเพียง 71%
    ส่วนในสหรัฐอเมริกาเอง เพียงหนึ่งเดือน สายพันธุ์เดลต้าก็เพิ่มจาก 2.7% ขึ้นมาเป็น 31% เรียบร้อยแล้ว และสายพันธุ์เดลต้านี้ ก็ได้แพร่กระจายไปกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
    จึงเป็นข้อสรุปว่า
    ไวรัสสายพันธุ์ใด ที่มีอัตราความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวางกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อไประบาดซ้ำในพื้นที่เดียวกัน สุดท้ายก็จะระบาดทับสายพันธุ์เดิมไปทั้งหมด ดังที่ปรากฏแล้วในหลากหลายประเทศ
คาดว่าในเวลาอีกไม่กี่เดือน ทั่วโลกก็คงจะมีไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก
    เมื่อทราบว่า สายพันธุ์เดลต้ามีการดื้อต่อวัคซีนหลายชนิด เช่น Pfizer และ AstraZeneca กรณีที่ฉีดเข็มเดียว จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนเข็มสอง เพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้า
    ทั้งที่ก่อนหน้านี้ การฉีดวัคซีนหนึ่งเข็ม สามารถที่จะป้องกันไวรัสสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์อัลฟ่าได้ ทำให้หลายประเทศ ใช้นโยบายฉีดเข็มหนึ่ง และยืดระยะเวลาเข็มสองออกไปก่อน เพื่อที่ทำให้วัคซีนเข็มหนึ่ง ได้กระจายไปสู่ประชาชนให้มากที่สุดเสียก่อน
    นโยบายนี้ จะใช้ได้ผลดีในประเทศที่มีไวรัสสายพันธุ์เดลต้าระบาดน้อย เมื่อใดที่มีไวรัสสายพันธุ์เดลต้าระบาดเกินกว่า 50% ของประเทศนั้นก็จำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มสองโดยเร็ว 
    ขณะนี้ประเทศไทย มีไวรัสสายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่ประมาณ 22%  จึงยังสามารถฉีดเข็มสองห่างจากเข็มหนึ่งได้ตามสมควร แต่ต้องติดตามจำนวนร้อยละของสายพันธุ์เดลต้า ถ้ามากเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ก็ต้องรุ่นระยะเวลาการฉีดวัคซีน ซึ่งได้ลดเวลาการฉีดเข็มสองแล้ว จาก 16 สัปดาห์ ลงมาเหลือ 12 สัปดาห์ ในปัจจุบัน ในอนาคต อาจจะต้องขยับลงมาที่ 8-10 สัปดาห์ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :